เทคนิคการจัดการเรียนรู้พื้นฐานมีหลายเทคนิค เช่น
1. เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
2. เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่าง
3. เทคนิคการใช้กระดานดำ
4. เทคนิคการใช้สื่อการสอน
5. เทคนิคการใช้คำถาม
6. เทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมาย
7. เทคนิคการเล่าเรื่อง
8. เทคนิคการสอนโดยใช้เพลง
9. เทคนิคการเร้าความสนใจ
10. เทคนิคการเสริมกำลังใจ
11. เทคนิคการสรุป
12. เทคนิคการพัฒนาการคิด
13. เทคนิคการใช้ผังกราฟิก
14. เทคนิคการสอนโดยใช้เกม
15. เทคนิคการสร้างอารมณ์ขัน
16. เทคนิคการจัดการชั้นเรียน
17. เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียน
18. เทคนิคการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม
19. เทคนิคการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
20. เทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิต
21. เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
22. เทคนิคการให้การบ้าน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
1. เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
ตัวอย่างเทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียนโดยใช้คำถาม
2. เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่าง
3. เทคนิคการใช้กระดานดำ
4. เทคนิคการใช้สื่อการสอน
5. เทคนิคการใช้คำถาม
4. เทคนิคการใช้สื่อการสอน
5. เทคนิคการใช้คำถาม
6. เทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมาย
7. เทคนิคการเล่าเรื่อง
8. เทคนิคการสอนโดยใช้เพลง
9. เทคนิคการเร้าความสนใจ
9. เทคนิคการเร้าความสนใจ
10. เทคนิคการเสริมกำลังใจ
11. เทคนิคการสรุป
12. เทคนิคการพัฒนาการคิด
13. เทคนิคการใช้ผังกราฟิก
14. เทคนิคการสอนโดยใช้เกม
14. เทคนิคการสอนโดยใช้เกม
15. เทคนิคการสร้างอารมณ์ขัน
16. เทคนิคการจัดการชั้นเรียน
17. เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียน
18. เทคนิคการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม
19. เทคนิคการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
20. เทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิต
21. เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
22. เทคนิคการให้การบ้าน
บทที่ 1 บทนำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประจำปีการศึกษา 2518-2519 วันที่ 23 มิถุนายน 2520 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เกี่ยวกับหลักวิชาและวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้ (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช, 2539: 269)
“...บัณฑิตทางการศึกษา ส่วนใหญ่ก็จะไปรับหน้าที่เป็นครู เป็นอาจารย์ หรือไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการให้การศึกษา ท่านทั้งหลายควรจะถือเป็นหลักการว่าในการสั่งสอนศิษย์นั้น มีความจำเป็นอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากด้วย ที่จะต้องพยายามหาทางใช้หลักวิชาและวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถคิด เข้าใจ และเห็นจริงด้วยตนเองในเนื้อหาสาระ ตลอดจนกฎและหลักเกณฑ์ในวิชาต่างๆ ที่เรียน ทั้งสามารถนำกฎหรือหลักเกณฑ์ ที่ได้เรียนรู้แล้วไปใช้ได้เอง โดยมองเห็นและทราบถึงประโยชน์ของการใช้หรือการทำตามบทเรียนนั้นๆ อย่างแน่ใจด้วย การให้การศึกษาแก่ศิษย์โดยหลักการนี้ จะทำให้ได้ประโยชน์ถึงสองชั้น อย่างหนึ่ง คือ ทำให้ผู้เป็นศิษย์เล่าเรียนวิชาการได้อย่างถูกต้อง ได้ประโยชน์ตรงกับความมุ่งหมายของการให้การศึกษา ต่อไปภายหน้า ก็จะเป็นผู้มีความรู้ มีปัญญาและมีความสามารถที่จะใช้ความรู้และปัญญาให้ได้ผลได้ประโยชน์เต็มเปี่ยม...”
จากพระบรมราโชวาทดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักวิชาในการสอน ซึ่งหลักวิชาในการสอนนั้นประกอบด้วยความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอน เช่น ระบบการสอน รูปแบบการสอน วิธีสอน รวมทั้งเทคนิคการสอน เป็นต้น และมีวิชาในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น จิตวิทยาการศึกษา ปรัชญาการศึกษา เทคโนโลยีทางการศึกษา การวัดและประเมินผลทางการศึกษา เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า ในการสอนให้มีประสิทธิผล บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดหวังไว้นั้น นอกจากครูต้องมีความรู้ในเนื้อหา เข้าใจหลักของจิตวิทยาการศึกษา เลือกใช้วิธีสอน สื่อ นวัตกรรม รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่เหมาะสมและหลากหลายแล้ว เทคนิคการสอนก็มีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะจะเป็นตัวเสริมให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การสอนหรือในปัจจุบันจะใช้คำว่า “การจัดการเรียนรู้” แทน เพื่อให้ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้คำนึงถึง หรือเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการจัดกิจรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ และได้ทำกิจกรรมตามที่ตนเองมีความถนัด มีความชอบ และตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อหวังให้นักเรียนได้สำเร็จการศึกษาและเป็นพลเมือง ที่ดีของประเทศชาติ มีความรู้ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเล่มนี้จะใช้คำว่า “เทคนิคการสอน” และ “ทักษะการสอน” เพื่อความกะทัดรัดของคำ แต่ให้มีความหมายอย่างเดียวกับ “เทคนิคการจัดการเรียนรู้” และ “ทักษะการจัดการเรียนรู้”
ความหมายของเทคนิคการสอนและทักษะการสอน
คำว่า “เทคนิค” ตามพจนุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 หมายถึง ศิลปะหรือกลวิธีเฉพาะวิชานั้นๆ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 538) ทิศนา แขมมณี (2550: 478) อธิบายว่า เทคนิคการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ใช้เสริมกระบวนการสอน ขั้นตอนการสอน หรือการดำเนินการทางการสอนใดๆ เพื่อช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในการบรรยาย ครูอาจใช้เทคนิคต่างๆ ที่สามารถช่วยให้การบรรยายมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกตัวอย่าง การใช้สื่อ การใช้คำถาม เป็นต้น
ส่วนคำว่า “ทักษะ” นั้น โดยความหมายของคำศัพท์ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 หมายถึง ความชำนาญ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 517) ดังนั้น หากเรากระทำสิ่งใดได้อย่างชำนาญ ก็เรียกได้ว่า เรามีทักษะในการกระทำนั้น เช่น ถ้าเราสามารถเล่าเรื่องได้อย่างชำนาญ กล่าวคือ สามารถเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้ฟังสนใจ ติดตามเรื่องที่กำลังเล่า และสามารถสื่อความได้ชัดเจน และที่สำคัญบรรลุวัตถุประสงค์ของการเล่าเรื่องนั้น ก็แสดงว่าเรามีทักษะในการเล่าเรื่อง
การนำเข้าสู่บทเรียนก็เช่นเดียวกัน หากครูสามารถปฏิบัติด้วยความชำนาญ สามารถเร้าความสนใจหรือดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้สนใจกิจกรรมการเรียนการสอนและพร้อมที่จะเรียนเนื้อหาหลัก นักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะเดิมที่มีอยู่มาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ ทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็แสดงว่าครูมีทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน
ในลักษณะเดียวกันกับการใช้คำถาม ซึ่งคำถามมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการกระตุ้นความคิดของนักเรียน ถ้าครูมีความชำนาญในการใช้คำถาม จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา เกิดการอภิปรายต่อเนื่อง และคำถามของครูสามารถเร้าความสนใจของนักเรียนได้ นำไปสู่การเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น จากที่กล่าวมา หากครูสามารถทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ แสดงว่าครูมีทักษะการใช้คำถาม
ดังนั้น การที่เราจะมีทักษะในเรื่องใด เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องที่ จะทำ และวิธีที่จะทำให้ได้ดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพนั่นก็คือ เราจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการและเทคนิคต่างๆ ในเรื่องนั้น แต่การมีความรู้เท่านั้นคงไม่สามารถช่วยให้เกิดทักษะได้ หากไม่ได้มีการลงมือปฏิบัติและฝึกฝนทำบ่อยๆ จนสามารถปฏิบัติได้อย่างชำนาญ (ทิศนา แขมมณี, 2548: 368)
เทคนิคการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ใช้เสริมกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำใดๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำนั้นๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนคำว่า ทักษะการสอน หมายถึง ความสามารถในการดำเนินการสอนให้ได้ผลอย่างคล่องแคล่ว ว่องไว และชำนาญ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดประสงค์
วัตถุประสงค์ในการฝึกทักษะการสอน
วัตถุประสงค์ในการฝึกทักษะการสอนมีหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การนำความรู้ทางด้านทฤษฎีไปดัดแปลงใช้ในภาคปฏิบัติให้ได้สัมผัสกับการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่ครู ขจัดปัญหาความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทดลองสอน และฝึกความชำนาญ ซึ่งครูต้องพยายามฝึกฝนทักษะการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการฝึกตามที่ตั้งใจไว้ให้ได้
ครูที่มีทักษะการสอนดี
ครูที่มีทักษะการสอนดี
ครูที่มีทักษะการสอนดีจะมีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง สอนได้อย่างกระจ่าง และมีกระบวนการในการสอนเป็นอย่างดี
บทที่ 2
เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
ก่อนที่เราจะออกกำลังกายก็ได้รับคำแนะนำว่า เราควรจะเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อน ที่เรียกกันว่าการอบอุ่นร่างกายหรือวอร์มอัป (warm up) เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมและป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ในทำนองเดียวกันก่อนที่จะทำกิจกรรมใดๆ หากได้มีการเกริ่นนำหรือเตรียมความพร้อม หรือพูดกันโดยทั่วไปว่า “อุ่นเครื่อง” ก็จะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้ว่ากำลังจะทำกิจกรรมใด ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ ลดน้อยลงหรือหมดไป กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนก็เช่นเดียวกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้เตรียมความพร้อม ป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดการบาดเจ็บในการเรียนรู้ ซึ่งก็คือ เกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหา สับสน กังวลใจ เบื่อหน่ายการเรียน หรือเรียนอย่างไม่มีความสุข
เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวนักเรียนก่อนเริ่มเรียน และก่อนที่ครูจะสอนเนื้อหาทุกวิชา ซึ่งเป็นการเตรียมนักเรียนให้รู้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร สามารถนำเอาความรู้และทักษะที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูกำลังจะสอนได้ โดยการหากิจกรรมที่เร้าความสนใจของนักเรียนแล้วเชื่อมโยงไปสู่บทเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียน หรือดึงดูดความสนใจของนักเรียนมาอยู่ที่การสอนของครู และเป็นการเตรียมนักเรียนให้มีสมาธิในการฟังเรื่องที่ครูจะสอน นักเรียนรู้ว่าต่อไปจะเรียนเรื่องอะไร และสามารถนำเอาความรู้และทักษะเดิมที่มีอยู่มาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ ซึ่งทำให้นักเรียนเห็นแนวทางในการเรียนรู้ และจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การนำเข้าสู่บทเรียนมีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นเทคนิควิธีการที่ช่วยให้นักเรียนเกิด ความพร้อมเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นสื่อเชื่อมโยงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและนักเรียนก่อนดำเนินการสอนในขั้นต่อไป และช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมกับเรื่องที่จะเรียนต่อไปได้
นอกจากการนำเข้าสู่บทเรียนในตอนเริ่มสอนแต่ละคาบหรือชั่วโมงแล้วในการเริ่มหัวข้อใหม่หรือเริ่มกิจกรรมใหม่ระหว่างคาบหรือชั่วโมง ครูก็ควรเตรียมความพร้อมของนักเรียนด้วยกิจกรรมต่างๆ ก่อนเริ่มหัวข้อใหม่หรือกิจกรรมใหม่นั้นด้วย กิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการเล่าเรื่องการใช้คำถาม หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักเรียนสามารถตามทันเนื้อหาและสามารถเรียนรู้ได้ดี
ในการจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ครูควรปฏิบัติในสิ่งต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ครูควรรู้ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมของนักเรียนเพื่อโยงให้สัมพันธ์กับกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนและเนื้อสาระบทเรียนใหม่ และศึกษาเรื่องที่จะสอน แล้วพิจารณาเลือกกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนให้ผสมกลมกลืนกัน รวมทั้งศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้ และฝึกฝนหรือเตรียมความพร้อมให้เกิดทักษะความชำนาญและความมั่นใจที่จะนำเสนอ
กิจกรรมการเรียนการสอนที่ครูควรใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียนนั้นมีหลากหลายกิจกรรมและรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นเพลง เกม หรือคำถาม ครูต้องเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสอดคล้องกับบทเรียนหรือกิจกรรมการเรียน การสอนที่จัดให้มีขึ้นในลำดับต่อมาและกิจกรรมที่เลือกนั้นต้องสามารถเร้าความสนใจ และเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่จะเรียนเนื้อหาสาระสำคัญได้ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี บรรลุ ผลตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของการสอนในแต่ละครั้ง
บทที่ 3
เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่าง
หากเราต้องการถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้แก่ผู้อื่น ให้เขาเข้าใจอย่างที่เรารู้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะประสบการณ์ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ความพร้อมในการรับรู้เรื่องราวและระดับสติปัญญารวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ทำให้คนเรารับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้แตกต่างกัน บางคนอาจจะแค่พูดให้ฟัง เขาก็จะเข้าใจ เพราะเขามีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว แต่บางคนเราต้องยกตัวอย่างประกอบหลายๆ ตัวอย่างเขาจึงจะเข้าใจ เพราะเขาไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อนเลย ลักษณะเช่นเดียวกันกับที่เป็นอยู่จริงในชั้นเรียน นักเรียนมีความแตกต่างและความพร้อมในการเรียนที่แตกต่างกัน ครูจะมีวิธีการใดในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของครูไปสู่นักเรียนให้เกิดผลมากที่สุด เป็นสิ่งที่ท้าทายครูอย่างยิ่ง เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่างเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ครูจำเป็นต้องใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ฉะนั้นครูควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคนี้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชั้นเรียนของตนต่อไป
แม้ว่าการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันจะเน้นให้ครูจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม เป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง แต่เนื้อหาสาระต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อหาสาระใหม่หรือเนื้อหาสาระที่ครูต้องการเพิ่มเติมให้แก่นักเรียน ครูก็ยังคงต้องใช้การอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งครูจะยกตัวอย่างที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระนั้นๆ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง ง่าย และรวดเร็ว การยกตัวอย่างจึงมักเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ควบคู่กับเทคนิคการอธิบาย จึงเรียกรวมกันว่า “เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่าง”
การใช้เทคนิคอธิบายและยกตัวอย่าง หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยที่ครูใช้คำพูด กิจกรรมหรือใช้สื่อการสอนประกอบด้วยเพื่อขยายความ ชี้แจงแก่นักเรียน โดยการนำสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่า “ตัวอย่าง” มาอ้างเพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นส่วนร่วมหรือมโนทัศน์ (Concept) ของสิ่งที่ต้องการอธิบาย เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การที่ครูอธิบายและยกตัวอย่างให้แก่นักเรียนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาหรือปฏิบัติตามจุดประสงค์ของบทเรียนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อเป็นพื้นฐานใน การเรียนรู้เรื่องต่อไปหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียนได้อีกด้วย
ประโยชน์ที่สำคัญของการอธิบายและยกตัวอย่างได้แก่ การเป็นสื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาบทเรียน ช่วยให้นักเรียนมีความสุขเพราะสามารถเข้าใจบทเรียนได้ และช่วยให้นักเรียนจดจำ
เนื้อหาสาระของบทเรียนได้นานและนำไปใช้ได้ รวมทั้งช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน ได้อีกด้วย
กระบวนการอธิบายที่ดีทั้ง 5 ขั้น ซึ่งได้แก่ 1) ขั้นนำ 2) ขั้นอธิบายและยกตัวอย่าง 3) ขั้นการใช้สื่อประกอบการอธิบาย 4) ขั้นการสรุป และ 5) ขั้นวัดและประเมินผล จะช่วยให้ การอธิบายของครูมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถกำหนด มโนทัศน์หรือสรุปเนื้อหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้นักเรียนมีความรู้ที่คงทนยาวนานขึ้น
เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่างที่ครูควรทราบและนำไปปฏิบัติมีหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การใช้น้ำเสียงที่ชัดเจน แจ่มใส พูดอธิบายอย่างมีจังหวะ ให้ตัวอย่างตรงประเด็น และสอดคล้องกับวัย ความรู้ ความสนใจ และประสบการณ์เดิมของนักเรียน อธิบายสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก ยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากหนังสือที่ใช้เรียน และควรสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่อธิบายไปแล้วเป็นระยะๆ รวมทั้งควรมีอารมณ์ขันบ้าง
ในการอธิบายควรใช้สายตาตรวจสอบความสนใจของนักเรียน เพื่อปรับลักษณะ การอธิบาย นอกจากนี้ ครูควรใช้กิริยาท่าทางประกอบการอธิบาย ใช้คำอธิบายที่ต่างกันแต่มีความหมายเดียวกัน และควรทดสอบความเข้าใจของนักเรียน โดยให้นักเรียนยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากที่ครูยกไปแล้ว
บทที่ 4
เทคนิคการใช้กระดานดำ
กระดานดำเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการเรียนการสอน แม้ว่าปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ครูในการเสนอเนื้อหาสาระของบทเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพโปร่งแสง หรือเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (overhead projector) ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่รู้จักกันโดยทั่วไป เครื่องแอลซีดีโปรเจคเตอร์ (LCD projector) ซึ่งสามารถขยายภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องวิซวลไลเซอร์ (visualizer) เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เครื่องเล่นซีดีและดีวีดีได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนได้เห็นภาพที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์เหล่านี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง โรงเรียน ส่วนใหญ่ยังคงจำเป็นต้องใช้กระดานดำ กระดานสีเขียว หรือไวท์บอร์ด ฉะนั้น การเรียนรู้การเขียนกระดานดำ (ในหนังสือเล่มนี้ จะใช้คำว่า “กระดานดำ” แทนกระดานทุกประเภท ที่ใช้สำหรับ การเรียนการสอน เช่น กระดานสีเขียว และไวท์บอร์ด เป็นต้น) จึงเป็นสิ่งที่ครูยังคงต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพื่อทักษะการสอนที่ดีต่อไป
เทคนิคการใช้กระดานดำ หมายถึง กลวิธีในการเขียน หรือวาดตัวอักษร ตัวเลข ภาพ สัญลักษณ์ หรือลายเส้นต่างๆ บนกระดานที่ใช้เป็นอุปกรณ์การสอนได้อย่างมีระเบียบ สะอาด เรียบร้อย ดูแล้วสวยงาม และเข้าใจง่าย
ครูสามารถใช้กระดานดำเพื่อประกอบการอธิบาย สรุปและทบทวนบทเรียน รวมทั้งให้นักเรียนได้แสดงความรู้ ทักษะ และใช้กระดานดำเพื่อเสริมการใช้อุปกรณ์อื่นๆ และกิจกรรมต่างๆ สำหรับประโยชน์ของกระดานดำมีหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ ใช้สำหรับบันทึกข้อความสำคัญในการเรียนการสอนได้ทุกขั้นตอน รวมทั้งข้อเสนอแนะ แนวคิดทั้งของครูและนักเรียน และใช้สำหรับการแข่งขันหรือเล่นเกมการศึกษา และที่สำคัญใช้เพื่อประกอบการอธิบาย สรุป และทบทวนบทเรียน อีกทั้งใช้ร่วมกับโสตทัศนูปกรณ์ และวัสดุอื่นๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
คุณสมบัติเด่นที่สำคัญของกระดานดำได้แก่ การที่สามารถใช้ได้ทุกเวลาขณะที่ครูสอน มีความคงทน นักเรียนสามารถมองเห็นได้ง่ายทั้งชั้น เขียนและลบได้ง่าย ใช้นำเสนอข้อคิดใหม่ ได้ทันที และสามารถใช้ได้ทั้งครูและนักเรียน
การเขียนกระดานดำให้ถูกต้องตามอักขรวิธีของการเขียนและการสะกด เขียนให้อยู่ในแนวระดับและเขียนให้เป็นไปโดยลำดับอย่างมีระเบียบ ครูต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนในเรื่องการเขียนตัวอักษรและการใช้กระดานดำ
การศึกษาจิตวิทยาการเรียนรู้ จะทำให้ครูทราบถึงข้อที่ควรรู้และควรคำนึงบางประการที่นำมาประยุกต์ใช้ในการเขียนกระดานให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ที่สำคัญได้แก่ การปฏิบัติตนเป็นตัวแบบของครูนั้นมีผลต่อการเลียนแบบของนักเรียน การเขียนหนังสือให้ถูกต้องตามอักขระวิธีการเขียนและการสะกด เขียนให้เป็นระเบียบและสวยงามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน และบุคคลจะจำความรู้ที่ต้องการได้ดีถ้าความรู้นั้นได้รับการจัดเข้าเป็นระเบียบหรือเสนอในรูปของความสำคัญตามลำดับ ฉะนั้น การเขียนกระดานดำต้องมีการจัด
ลำดับข้อความและการเน้นจุดสำคัญ เป็นต้น
เทคนิคการใช้กระดานดำมีหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ 1) ก่อนใช้กระดานดำควรคำนึงถึงความสะอาด 2) ต้องเขียนให้ตัวหนังสือมีขนาดพอเหมาะ อ่านง่าย ชัดเจน เป็นระเบียบ 3) ควรเน้นจุดสำคัญโดยการใช้ชอล์กสีหรือขีดเส้นใต้ และควรเขียนชื่อเรื่องไว้กลางกระดานดำ 4) เลือกเขียนเฉพาะหัวข้อและใจความสำคัญ 5) เมื่อเขียนเสร็จจะต้องตรวจดู ความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง 6) ควรเขียนกระดานโดยเอียงตัวเข้าหา จะได้ไม่ต้องบังข้อความที่เขียนไว้แล้ว 7) เมื่อจะสอนเรื่องใหม่ ควรลบข้อความเนื้อหาเดิมให้หมดเสียก่อน 8) ใช้ภาพการ์ตูนลายเส้นประกอบการสอนจะทำให้การอธิบายของครูน่าสนใจมากขึ้น 9) ควรแบ่งกระดานดำออกเป็นส่วนๆ ตามความยาว แล้วเขียนให้หมดเป็นส่วนๆ ไป 10) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการใช้กระดานดำ 11) ในกรณีที่ต้องเขียนรูปทรงเรขาคณิต ควรใช้เครื่องมือช่วย 12) ขณะอธิบายข้อความบนกระดานดำ ครูควรยืนชิด ไปทางด้านใดด้านหนึ่งของกระดานดำ ให้ใช้ไม้ชี้และไม่หันหลังให้นักเรียนขณะอธิบาย และ 13) ถ้าสอนนักเรียนที่เริ่มหัดเขียน ครูต้องเขียนคัด ตัวบรรจงเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
ในการใช้กระดานดำ ครูควรคำนึงสภาพแวดล้อมในห้องเรียนด้วยเพื่อให้นักเรียนมองเห็นตัวหนังสือหรือรูปภาพบนกระดานได้ดี เช่น ขอบล่างของกระดานดำควรอยู่ในระดับสายตาของนักเรียน ที่นั่งของนักเรียนควรอยู่ในอาณาเขต 60 องศา วัดจากกึ่งกลางของกระดาน คนที่นั่งหน้าชั้นควรอยู่ห่างจากกระดาน 3 เมตร เป็นอย่างน้อย คำนึงถึงการสะท้อนแสงที่มากระทบกระดานดำ และอาจต้องปิดหน้าต่างหรือปิดประตูบางบาน เป็นต้น
ครูควรฝึกเขียนกระดานดำให้ถูกต้องตามหลักการที่ได้ศึกษามา รวมทั้งพิจารณาดู ความเหมาะสมหรือความบกพร่องของสิ่งที่เขียน ในแง่ของช่องไฟ แนวระดับความชัดเจน ขนาดของตัวอักษรที่ทำให้นักเรียนเห็นได้ทั้งชั้น และลำดับของเนื้อหาที่เขียน การพิจารณานี้อาจพิจารณาด้วยตนเอง สอบถามความคิดเห็นจากเพื่อนหรือสอบถามจากนักเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่างก็ได้ เมื่อพบข้อบกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไข และฝึกเทคนิคการเขียนกระดานดำให้เกิดความชำนาญ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทที่ 5
เทคนิคการใช้สื่อการสอน
เทคนิคการใช้สื่อการสอน
คำกล่าวที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่ากับลองทำดู” หรือ “ภาพหนึ่งภาพแทนคำพันคำ” เป็นคำกล่าวที่บ่งบอกถึงความสำคัญของสื่อได้เป็นอย่างดี ท่านลองจินตนาการดู หากครูพูดบรรยายเพียงอย่างเดียวตลอดชั่วโมง นักเรียนจะเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียนได้ดีเพียงใด แต่หากครูนำรูปภาพมาประกอบ นำของจริงมาแสดง สาธิตวิธีการทำให้ดู ให้นักเรียนได้เห็นภาพ ได้จับต้อง ได้เห็นถึงการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลง ของสิ่งที่นำมาแสดงประกอบ นักเรียนจะมีความตื่นเต้น อยากรู้ อยากเรียน มากขึ้นเพียงใด ท้ายที่สุด ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของนักเรียนจะดีขึ้น รวมทั้งเจตคติที่ดีต่อการเรียนในบทเรียน หรือการเรียนวิชานั้นจะเพิ่มมากขึ้นด้วย
เทคนิคการใช้สื่อการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกินกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สิ่งใดก็ตามที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในรูปของวัสดุ อุปกรณ์ และเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และที่สำคัญนักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของบทเรียน
วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอนมีหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ 1) เพื่อให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น 2) มุ่งเร้าให้นักเรียนสนใจบทเรียนอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนและตลอดเวลา 3) เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ 4) เพื่อให้ประหยัดเวลา วัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่าย และบุคลากรครู ในขณะเดียวกัน ทำให้นักเรียนจำนวนมากเกิดการเรียนรู้อย่างคุ้มค่า ภายใต้สถานการณ์ที่ดีและได้มาตรฐานอย่างเดียวกัน
สื่อการสอนมีประโยชน์ต่อนักเรียนหลายประการ ประโยชน์ที่สำคัญ ได้แก่ 1) ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น 2) ช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจให้กับนักเรียน 3) ช่วยให้ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมแก่นักเรียน 4) ช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน 5) ช่วยให้นักเรียนจดจำสิ่งที่เรียนได้มาก แม่นยำ และคงทนถาวรยิ่งขึ้น และ 6) ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง แปลกใหม่ และมีคุณค่า
ประโยชน์ที่สำคัญของสื่อต่อครู ได้แก่ 1) ช่วยให้ครูสอนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ 2) ช่วยสร้างบรรยากาศการสอนที่น่าสนใจ 3) สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวครูเอง 4) ช่วยแบ่งเบาภาระการสอน 5) ช่วยกระตุ้นให้ครูคิดพัฒนาสื่อใหม่ๆ 6) ช่วยให้ครูสามารถจัดกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย 7) ทำให้ครูสามารถสอนได้รวดเร็ว ถูกต้อง และ 8) ช่วยให้ครูสามารถนำประสบการณ์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายภายนอกห้องเรียนมานำเสนอต่อนักเรียน
เมื่อใช้เกณฑ์ต่างกันก็สามารถแบ่งกลุ่มของสื่อการสอนได้แตกต่างกัน ที่สำคัญ ได้แก่ การแบ่งสื่อตามประสบการณ์การเรียนรู้ และการแบ่งตามลักษณะการใช้งาน การแบ่งสื่อตามประสบการณ์การเรียนรู้นั้น เอดการ์ เดล (Edgar Dale) ได้พัฒนาแนวคิดของบรุนเนอร์ (Bruner) แล้วสร้างเป็น “กรวยประสบการณ์” ซึ่งแสดงขั้นตอนของประสบการณ์การเรียนรู้และการใช้สื่อแต่ละประเภทในกระบวนการเรียนรู้นั้น โดยแบ่งเป็น 11 ประเภท ดังนี้ 1) ประสบการณ์ตรง 2) ประสบการณ์รอง 3) ประสบการณ์นาฏกรรมหรือการแสดง 4) การสาธิต 5) การศึกษานอกสถานที่ 6) นิทรรศการ 7) โทรทัศน์ 8) ภาพยนตร์ 9) การบันทึกเสียง วิทยุ ภาพนิ่ง 10) ทัศน-สัญลักษณ์ และ 11) วจนสัญลักษณ์
ส่วนการแบ่งสื่อตามลักษณะการใช้งาน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) สื่อเพื่อนำเสนอ ได้แก่ วัสดุสิ่งพิมพ์และกราฟิก สื่อฉายภาพนิ่ง สื่อเสียง สื่อเสียงรวมกับสื่อภาพนิ่ง ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อประสม 2) สื่อวัตถุ ได้แก่ วัตถุธรรมชาติ วัตถุจากการประดิษฐ์ขึ้น และวัตถุเลียนแบบของจริง และ 3) สื่อเชิงโต้ตอบ ได้แก่ การโต้ตอบกับบทเรียนแบบโปรแกรม การโต้ตอบกับสื่ออุปกรณ์ และการโต้ตอบระหว่างการเรียนด้วยเกมหรือสถานการณ์จำลอง
เพื่อให้การสอนเกิดผลดี ครูควรมีความรู้เกี่ยวกับการรับรู้ของเด็กแต่ละวัย ซึ่งมี ความต่างกัน จึงจำเป็นต้องเลือกสื่อที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียน เลือกสื่ออย่างละเอียดรอบคอบ และต้องเลือกสื่อหลากหลายที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
ในการเลือกสื่อควรเลือกสื่อที่มีคุณลักษณะ ดังนี้ 1) มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเรื่องที่จะสอน 2) เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น ความรู้และประสบการณ์ของนักเรียน 3) มีขนาดเหมาะสม หรือมีขนาดถูกต้องตามหลักเกณฑ์ 4) แปลกจากสิ่งที่นักเรียนเคยเห็น หรือเลือกใช้สื่อที่สามารถเคลื่อนไหวได้ 5) สีสดใส และควรใช้สีที่เย็นตา 6) มีความปลอดภัย 7) มีจำนวนพอเหมาะกับบทเรียน 8) สามารถหาได้ในท้องถิ่น หรือเลือกที่มีราคาเหมาะสม มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพสูง ถ้าจะผลิตเองควรคุ้มกับเวลา และการลงทุน 9) มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย น่าสนใจ และช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาวิชานั้นได้ดีเป็นลำดับขั้นตอน 10) สะดวกในการใช้ และ 11) เลือกสื่อที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิด การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
ก่อนการใช้สื่อ ครูควรได้เตรียมสื่อเอาไว้ให้พร้อม และควรตรวจสภาพและศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อที่นำมาใช้ ทดลองใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อนที่จะใช้จริง จัดเตรียมห้องเรียนหรือสถานที่ให้สะดวกในการใช้สื่อตามขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งครูต้องเตรียมนักเรียนโดยการให้นักเรียนได้เตรียมบทเรียนร่วมกับครู อธิบายให้นักเรียนได้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีส่วนร่วมในการใช้สื่ออย่างไร รวมทั้งอธิบายให้นักเรียนรู้จักสรุปบทเรียนหลังการใช้สื่อ
ในการใช้สื่อ ครูต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับขั้นตอนของการสอนและวัตถุประสงค์ของบทเรียน ดังนี้ 1) ในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ควรใช้สื่อที่แสดงเนื้อหากว้างๆ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในครั้งก่อน 2) ขั้นดำเนินการสอน ครูจะต้องใช้สื่อให้ตรงกับเนื้อหาและวิธีการสอน 3) ขั้นวิเคราะห์และฝึกปฏิบัติ ให้ใช้สื่อที่เป็นประเด็นปัญหาให้นักเรียนได้ฝึกคิด โดยนักเรียนเป็นผู้ใช้สื่อเองมากที่สุด 4) ขั้นสรุปบทเรียน สื่อที่ใช้สรุปจึงควรครอบคลุมเนื้อหาที่สำคัญทั้งหมดโดยย่อและใช้เวลาน้อย และ 5) ขั้นประเมินนักเรียน อาจทดสอบโดยการสังเกตจากทักษะการฝึกปฏิบัติจากสื่อว่าถูกต้องหรือไม่
เพื่อให้การใช้สื่อมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและ การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน ครูต้องคำนึงถึงเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญในการใช้สื่อ ดังนี้ 1) ใช้สื่อการสอนตามลำดับ 2) แสดงสื่อให้เห็นชัดเจน 3) คำนึงถึงความปลอดภัย 4) ใช้สื่อด้วยความคล่องแคล่ว 5) การชี้สื่อควรใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม 6) เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม ในการใช้สื่อ 7) ใช้สื่อให้คุ้มค่ากับที่ได้เตรียมมา 8) ใช้อุปกรณ์ประกอบการใช้สื่ออย่างเหมาะสม 9) ให้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาสาระจากสื่อพอสมควร และ 10) ให้โอกาสนักเรียนซักถามเมื่อมีปัญหาข้อข้องใจ
การประเมินผลสื่อการสอนนั้น ควรประเมินใน 2 ส่วน คือ การประเมินผลสื่อและ การประเมินผลเทคนิคที่ใช้ หัวข้อการประเมินผลสื่อที่สำคัญ ได้แก่ การบรรลุวัตถุประสงค์ของการสอน รวมทั้งจุดเด่นและจุดด้อย และความคุ้มค่าของสื่อ สำหรับการประเมินผลเทคนิคที่ใช้ที่สำคัญ ได้แก่ วิธีการนำเสนอสื่อ ความสามารถในการใช้สื่อของครู และงานที่มอบหมายให้นักเรียนทำ
หลังจากใช้สื่อแล้ว ครูควรจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการใช้สื่อการสอนด้วย เพื่อตรวจสอบว่านักเรียนเข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนหรือไม่ จากนั้นเพื่อเป็นการขยายความรู้ของนักเรียนให้กว้างขึ้น ครูสามารถใช้คำถาม การอภิปราย การศึกษาด้วยตัวนักเรียนเอง การทำรายงาน และการจัดนิทรรศการ เป็นต้น
เพลง หมายถึง สำเนียงขับร้อง หรือทำนองดนตรี และเทคนิคการใช้เพลงประกอบ การสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้สำเนียงขับร้องและทำนองดนตรีมาให้นักเรียนได้ร้องหรือครูร้องให้นักเรียนฟังเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเรียนการสอน
บทที่ 6
เทคนิคการใช้คำถาม
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ เมื่อใกล้ๆ สอบนักเรียนส่วนใหญ่มีความสนใจใน การอ่านหนังสือเป็นพิเศษ ฝึกทำแบบฝึกหัด ทบทวน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาที่สอบกับเพื่อนๆ รวมทั้งการเตรียมตัวและพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาบทเรียน เพราะทราบแน่นอนแล้วว่าจะต้องเจอโจทย์คำถามในการสอบ นั่นก็แสดงว่าคำถามในการสอบทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาสาระความรู้ของวิชาเพิ่มมากขึ้น ให้ท่านลองนึกภาพดูว่า หากครูประกาศตั้งแต่ต้นภาคเรียนว่า วิชานี้จะไม่มีการสอบ หรือการวัดผลการเรียนรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ประเมินผลการเรียนจากการทำรายงานเพียงอย่างเดียว ท่านคิดว่านักเรียนจะตั้งใจเรียนและเกิดการเรียนรู้มากเพียงใด ในทำนองเดียวกัน หากครูไม่ถามคำถามเลยในการสอนแต่ละครั้ง แล้วจะมีนักเรียนจำนวนเท่าใดที่พยายามคิดตามสิ่งที่ครูกำลังสอน และครูควรถามอย่างไร นักเรียนจึงจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์และเกิด การเรียนรู้เนื้อหาสาระของบทเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ครูควรตระหนักและเรียนรู้ รวมทั้งปฏิบัติฝึกฝนให้เกิดความชำนาญจนกลายเป็นทักษะที่มีอยู่ในตัวครู เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป
เทคนิคการใช้คำถาม หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้คำพูด ข้อความหรือประโยค โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อ รับคำตอบจากผู้ที่ถูกถาม ซึ่งก็คือนักเรียน นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามการปฏิบัติตามคำสั่ง หรือประสบการณ์เดิมที่นักเรียนได้เรียนรู้ไปแล้ว การถามของครูไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนฝึกคิดเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้นักเรียนเกิดความสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้อีกด้วย
การใช้คำถามในชั้นเรียน มีวัตถุประสงค์หลายประการที่สำคัญได้แก่ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องที่เรียนไปแล้ว และเพื่อกระตุ้นความสนใจหรือทบทวนความรู้ ความจำในสิ่งที่ได้เรียนผ่านมา รวมทั้งให้นักเรียนได้ฝึกทักษะในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อความหมายเมื่อตอบคำถาม และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อให้นักเรียนพัฒนาทักษะกระบวนการคิดในชั้นที่สูงขึ้นกว่าระดับความรู้ ความจำ
การใช้เทคนิคการใช้คำถามในชั้นเรียน ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ ช่วยเสริมสร้างความสามารถทางความคิดให้แก่นักเรียน ช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียน ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ใช้เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ก่อให้เกิดการค้นคว้าและสำรวจความรู้ใหม่ ใช้คำถามทบทวนหรือสรุปเรื่องราวที่สอนให้กะทัดรัดยิ่งขึ้น ใช้วัดผลความเข้าใจและความสามารถของนักเรียน รวมทั้งวัดผลการสอนว่าเป็นไปตามจุดประสงค์เพียงใด
การจำแนกประเภทของคำถามอาจทำได้หลายแบบ เช่น จำแนกตามลำดับขั้นของคำถามตามแนวคิดของบลูม ซึ่งจะได้เป็น 6 ประเภท เรียงลำดับจากระดับการคิดจากต่ำสุดไปหาสูงสุด ดังนี้ 1) ถามความจำ 2) ถามความเข้าใจ 3) ถามการนำไปใช้ 4) ถามการวิเคราะห์ 5) ถามการสังเคราะห์ และ 6) ถามการประเมินค่า
นอกจากนี้ยังจำแนกคำถามออกเป็นคำถามแบบปิดและแบบเปิด คำถามแบบปิดเป็นคำถามที่มีคำตอบเพียงอย่างเดียว หรือให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คำถามแบบเปิดเป็นคำถามที่มีคำตอบหลายอย่าง ผู้ตอบต้องใช้ความรู้ผนวกความคิดให้เหตุผลประกอบการตอบ
การจำแนกประเภทของคำถามอีกแบบหนึ่งก็คือ จำแนกตามลักษะการคิด ที่นิยมใช้กันในการเรียนการสอนมี 3 ประเภท คือ 1) คำถามที่ใช้ในความคิดพื้นฐาน ได้แก่ ถามความจำ และถามการสังเกต 2) คำถามเพื่อการคิดค้น ได้แก่ ถามความเข้าใจ การนำไปใช้ การเปรียบเทียบ การหาเหตุผล และสรุปหลักการ และ 3) คำถามที่ขยายความคิด ได้แก่ ถามการคาดคะเน การวิจารณ์ การวางแผน และการประเมินค่า
เทคนิคในการใช้คำถามมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แบ่งได้เป็น 1) เทคนิคในการถาม และ 2) เทคนิคในการตอบสนองต่อคำถามของนักเรียน เทคนิคในการใช้คำถามที่สำคัญได้แก่ การเลือกใช้คำถามที่มีคุณค่า สามารถเร้านักเรียนให้แสดงพฤติกรรมตอบสนองได้ ควรใช้ภาษาง่ายๆ และเป็นคำถามที่สอดคล้องสัมพันธ์กับจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาสำคัญ โดยคำนึงถึงพื้นความรู้และประสบการณ์ของนักเรียน เมื่อถามคำถามแล้ว ควรให้เวลานักเรียนคิด และคำถามควรเป็นคำถามประเภทปลายเปิด หรือใช้ถามคำถามประเภทลูกโซ่ต่อเนื่องและสัมพันธ์เป็นกระบวนการ
สำหรับเทคนิคการตอบสนองต่อคำถามของนักเรียนที่สำคัญได้แก่ การให้กำลังใจเสริมเมื่อนักเรียนหยุดคิดหรือลังเลในการตอบ หากนักเรียนตอบผิด ครูต้องไม่มีปฏิกิริยาทางลบ รวมทั้งต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ และเมื่อถามแล้วถ้าไม่มีผู้ใดตอบได้ ควรตั้งคำถามใหม่ โดยใช้คำถามที่ง่ายขึ้น หรืออธิบายขยายความ หรือให้แนวทางในการตอบ
บทที่ 7
เทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมาย
ณ ห้องเรียนห้องหนึ่ง ครูยืนตัวตรงอยู่ที่หน้าชั้น มือทั้งสองอยู่ที่ข้างลำตัว ส่วนของร่างกายของครูที่เคลื่อนไหวมากที่สุดก็คือปาก ครูพูดด้วยเสียงระดับเดียวกันตลอด แววตา สีหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงเลย จนนักเรียนคิดว่ากำลังเรียนอยู่กับหุ่นยนต์ที่สามารถพูดได้ ถ้าเป็นหุ่นยนต์จริงๆ นักเรียนก็คงให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะมีความพิเศษที่สามารถพูดได้ แต่หากเป็นครูเพียงแต่สามารถพูดได้ นักเรียนก็คงไม่สนใจมากนัก ส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นน้อย จากพฤติกรรมของครูที่ยกมาให้เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า ครูต้องไม่ทำตัวเป็นหุ่นยนต์ขณะสอน นั่นก็คือครูต้องมีเทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสามารถสื่อความหมายให้นักเรียนเข้าใจได้เป็นอย่างดี
เทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมาย หมายถึง กลวิธีการดำเนินการสอนของครูโดยใช้คำพูด การเคลื่อนไหวของมือการแสดงออกทางใบหน้า ดวงตา รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่เหมาะสม ทำให้สามารถสื่อความหมายไปยังนักเรียนตรงตามเนื้อหาสาระของบทเรียน
การใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมายก็เพื่อให้ครูสามารถวางท่าทางประกอบ การสอนให้ดีอย่างเหมาะสม เคลื่อนไหวและเปลี่ยนอิริยาบถได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นสง่า ใช้มือและแขนประกอบการอธิบายได้ถูกจังหวะและเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ให้การแสดงออกทาง สีหน้าเข้ากับบทเรียนและสถานการณ์ได้ดี สามารถใช้วาจา น้ำเสียงเน้นหนักเบาได้ถูกต้องกับจังหวะและเรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเสริมสร้างบุคลิกภาพที่เหมาะสม และที่สำคัญครูสามารถสื่อความหมายของบทเรียนให้นักเรียนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง รวมทั้งป้องกันการเกิดความรำคาญและเรื่องขบขันเกี่ยวกับท่าทางของครูอีกด้วย
หากครูได้ใช้การใช้กิริยาท่าทางและสื่อความหมายจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น จะช่วยให้นักเรียนเกิดความเคารพศรัทธา และเกิดเจตคติที่ดีต่อครู เกิดความกระตือรือร้น ที่จะช่วยกิจกรรม ทำให้ปัญหาความไม่สนใจเรียนหมดไป และช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในบทเรียน รวมทั้งช่วยให้การจัดการชั้นเรียนของครูมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ครูสามารถใช้เทคนิคการสื่อความหมายได้ใน 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การสื่อความหมายโดยใช้คำพูด และโดยไม่ใช้คำพูดสำหรับการใช้คำพูดนั้น ครูต้องพูดให้นักเรียนได้ยินชัดเจน เข้าใจได้ง่าย เปลี่ยนแปลงระดับน้ำเสียงบ้าง ควรใช้ข้อความหรือประโยคที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงกิริยาท่าทางที่รบกวนนักเรียน
ส่วนการสื่อความหมายโดยไม่ใช้คำพูด ครูต้องกวาดสายตาไปยังนักเรียนให้ทั่วถึง แสดงสีหน้าถึงความเอาใจใส่นักเรียน รวมทั้งการเดินไปรอบๆ ห้องเพื่อให้คำปรึกษาหรือตอบ ข้อซักถามของนักเรียน และครูหยุดการสอนหรือเงียบลงชั่วขณะ เพื่อสร้างความสนใจหรือเพื่อให้เวลานักเรียนได้คิด
ครูควรศึกษาหาความรู้และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับบุคลิกภาพของครูที่มีผลต่อบรรยากาศในชั้นเรียน การปรับปรุงบุคลิกภาพของครูให้ดีขึ้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดจากการใช้ภาษาท่าทางเป็นสื่อ รวมทั้งสิ่งที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนอิริยาบถ การใช้มือและแขน การแสดงออกทางสีหน้าและสายตา การวางท่าทางและการทรงตัวในขณะสอน การใช้น้ำเสียง และการแต่งกาย ซึ่งอาจทำได้โดยการฝึกหน้ากระจกเงา และควรหาโอกาสสังเกตการสอนของเพื่อนครู หรือผู้ประสบความสำเร็จในการสอนในแง่ของการใช้ภาษาท่าทางเพื่อสื่อความหมายในการสอน
วิธีการฝึกทักษะการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมายที่น่าสนใจมี 3 วิธี ได้แก่ 1) การฝึกด้วยตนเองโดยใช้กระจก 2) การฝึกโดยมีเพื่อนเป็นผู้ให้คำแนะนำติชม และ 3) การฝึกโดยใช้เทปบันทึกภาพ การฝึกทั้งสามวิธีนี้ หากนักศึกษาหรือครูประจำการครูได้ปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาครูหรือครูที่กำลังปฏิบัติงานสามารถพัฒนาทักษะการสอนของตนเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
บทที่ 8
เทคนิคการเล่าเรื่อง
เทคนิคการเล่าเรื่อง
โดยปกติแล้วนักเรียนชอบการเรียนที่สนุก ไม่เครียด มีกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะนักเรียนที่มีอายุน้อยมักจะชอบให้ครูเล่านิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ แม้แต่นักเรียนที่โตแล้ว หรือเป็นผู้ใหญ่ หากได้ฟังการบรรยายที่มีเรื่องเล่าประกอบ ก็จะมีความสนใจในการบรรยายนั้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจจะจดจำความรู้ได้มากยิ่งขึ้น
เทคนิคการเล่าเรื่อง หมายถึง กลวิธีที่ครูนำเอาเรื่องราวต่างๆ ในอดีต เช่น เรื่องในประวัติศาสตร์ พงศาวดาร เทพนิยาย นิทาน เรื่องสั้น หรือประสบการณ์บางอย่างที่ครูได้รับมาเล่าหรือพูดให้นักเรียนฟัง เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ บุคคล หรือลักษณะนิสัยบางอย่างของตัวบุคคลในเนื้อหาของเรื่องที่นำมาเล่า รวมทั้งเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ตามที่เป็นต้น
การเล่าเรื่องมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ มีทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน และครูสามารถสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปในเรื่องเล่าเพื่อพัฒนาคุณธรรมของนักเรียนได้อีกด้วย
การเล่าเรื่องมีประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากมายหลายประการ ทำให้นักเรียนได้รับความรู้ ข้อมูล และช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน เพิ่มพูนความรู้ทางภาษา สร้างบรรยากาศที่ดี เสริมสร้างลักษณะนิสัยและคุณธรรมอันดีงาม ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดและจินตนาการ
หลักในการเลือกเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1) ควรเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ทันสมัย เหมาะกับวัย และพื้นความรู้ของนักเรียน 2) เป็นเรื่องพัฒนาแนวความคิดให้นักเรียนรู้จักคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น 3) ควรเป็นเรื่องที่มีคุณค่าต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ทางศีลธรรมจรรยา การใช้ภาษาและส่งเสริมให้เกิดเจตคติที่ดีงาม 4) ควรมีเรื่องหลายๆ ประเภทไม่ซ้ำกัน เรื่องไม่ยาวหรือสั้นจนเกินไป และไม่สับสน วกวน 5) เรื่องที่นำมาเล่าควรสนุกสนาน เร้าความสนใจ
เป็นเรื่องที่สุภาพ มีคติพจน์แฝงอยู่ และ 6) ไม่ควรเลือกเรื่องที่ทำให้นักเรียนเสียสุขภาพจิต
ในการเล่าเรื่อง ครูควรเตรียมในสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1) ศึกษาหลักการและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่อง 2) เลือกเรื่องที่สนใจ 3) ศึกษาเรื่องที่เลือกให้เข้าใจ 4) เตรียมสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ 5) ถ้าเป็นเรื่องที่ครูแต่งขึ้นมาเอง ควรจะปรับปรุงภาษาที่ใช้ให้เหมาะสม 6) ควรลำดับเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบให้สัมพันธ์และเป็นเหตุเป็นผลกัน 7) ควรจดเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบอย่างย่อๆ และพยายามหาข้อปลีกย่อยเพิ่มเติม เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น เช่น ยกตัวอย่างประกอบ นำสุภาษิตและคำพังเพยมายกตัวอย่างเพิ่มเติม 8) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ และสำนวนโวหารที่ยาก 9) ฝึกเล่าเรื่องลงในเทปบันทึกเสียง แล้วเปิดฟังด้วยตนเอง พร้อมทั้งพิจารณาหาข้อบกพร่องเพื่อแก้ไข และ 10) หาโอกาสเข้าสังเกตการณ์สอนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสอนแบบเล่าเรื่อง
ในการเล่าเรื่องครูควรคำนึงถึงการรับรู้ พัฒนาการทางความคิดของนักเรียน รวมทั้ง ช่วงความสนใจของนักเรียนแต่ละวัยด้วย นอกจากนี้ตัวครูเองก็ต้องมีบุคลิกภาพที่เป็นกันเองกับนักเรียน เป็นผู้ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีความมั่นใจ ส่วนเรื่องที่จะเล่าต้องไม่ยืดยาวเยิ่นเย่อซ้ำซากหรือสับสน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย และได้ผลไม่ตรงกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ สำหรับการใช้ภาษา น้ำเสียง และท่าทางประกอบการเล่าก็ต้องให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และห้องเรียนก็เลือกห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน มีความสบายในการนั่งฟัง ที่สำคัญต้องดูความพร้อมของนักเรียนก่อนที่จะเล่าเรื่องต่างๆ
เทคนิคการเล่าเรื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ 1) กำหนดความยาวของเรื่องให้เหมาะสม และเนื้อเรื่องตอนเริ่มต้นและตอนต่อไปต้องมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน 2) เรียงลำดับของการเล่า เน้นตอนสำคัญของเรื่องให้ชัดเจน และใช้สื่อประกอบ 3) ใช้ท่าทางประกอบ 4) ใช้ภาษาที่เหมาะสม และน้ำเสียงจะต้องเน้นหนักเบา สูงต่ำตามเนื้อเรื่องหรือตัวละคร 5) แสดงออกทาง สีหน้าและอารมณ์ประกอบการเล่าเรื่อง และ 6) ให้นักเรียนได้ใช้ความคิดและจินตนาการตาม
บทที่ 9
เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน
คนเราทุกคนชอบเสียงเพลง มีบางคนที่ไม่ชอบเสียงเพลงบ้างก็เพียงแต่ไม่ชอบแนวเพลงหรือประเภทของเพลงหรือไม่อยากฟังเพลงในบางช่วงเวลาหรือบางอารมณ์เท่านั้น สังเกตได้ว่าทุกชนเผ่าหรือชนชาติจะมีดนตรีไว้บรรเลงโดยเฉพาะเพื่อความบันเทิง ไม่เว้นแม้จะเป็นชนเผ่ากลุ่มเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา หรือที่ห่างไกลความเจริญทางวัตถุในแถบป่าดงดิบในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชนเผ่าเหล่านั้นก็ยังมีเครื่องดนตรีง่ายๆ และใช้ปากในการทำเสียงประกอบท่วงทำนองและจังหวะสร้างความสนุกสนานได้เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “เวนิส
วาณิช” ตอน “ลอเรนโซบรรยายให้เช็สซิกาฟังเกี่ยวกับเรื่องคนไม่มีดนตรีในหัวใจ” ดังนี้ (http://www.siamsong.net/Lierture/Literture.html)
ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤๅอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤๅอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
ในชั้นเรียนก็เช่นเดียวกัน นักเรียนชอบร้องเพลงหรือฟังเพลงที่ครูร้อง ถ้าเป็นเพลงที่กำลังอยู่ในความนิยม นักเรียนก็จะชื่นชอบเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เพลงที่อยู่ในความนิยมของนักเรียนก็ใช้ได้ในบางโอกาส เพื่อผ่อนคลายความเครียดในชั้นเรียน แต่เพลงที่จะเน้นใน บทนี้เป็นเพลงประกอบการสอน ซึ่งเนื้อหาของเพลงจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน ครูควรได้ศึกษาแล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อชั้นเรียนของตนเองต่อไป
เพลงประกอบการสอนมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทเรียนหรือเกี่ยวกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่นักเรียน มีเนื้อร้องสั้นๆ เน้นความไพเราะสนุกสนาน รวมทั้งนักเรียนได้มีโอกาสปรบมือ ทำจังหวะและแสดงท่าทางต่างๆ และถ้านำทำนองเพลงที่กำลังนิยมมาใช้ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียนมากยิ่งขึ้น
เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน ครูสามารถใช้ได้ทั้งในขั้นตอนนำเข้าสู่บทเรียน ดำเนินการสอน การให้ผู้ฝึกปฏิบัติ สรุปบทเรียน และการวัดผลการเรียนรู้ ซึ่งครูต้องเลือกเพลงให้เหมาะสมกับแต่ละขั้นของกิจกรรมการเรียนการสอน
ในการสอนนักเรียนให้ร้องเพลงนั้น ต้องคำนึงถึงความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียน และเพลงสำหรับนักเรียนที่มีอายุน้อยๆ ควรเป็นเพลงที่เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนเห็นในชีวิตประจำวันหรือเกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนเอง โดยครูร้องให้ฟังก่อน 1-2 เที่ยว เพื่อให้นักเรียนได้ฟังทำนอง จังหวะ เนื้อร้องหรือจับเค้าเพลงที่ร้องให้ได้ก่อน แล้วให้นักเรียนร้องตาม ทีละวรรค จากนั้นครูร้องพร้อมกับนักเรียนจนกระทั่งนักเรียนร้องได้ด้วยตนเอง และอาจใช้เทปช่วยในการสอนร้องเพลง นอกจากนี้ครูใช้ท่าทาง น้ำเสียง และอารมณ์ที่สอดคล้องกับบทเพลง รวมทั้งควบคุมจังหวะเพลง โดยการปรบมือหรือตีกลอง
บทที่ 10
เทคนิคการเร้าความสนใจ
ครูที่มีประสบการณ์คงทราบดีว่า แม้ว่าครูเตรียมกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนได้อย่างน่าสนใจ แต่เมื่อกิจกรรมดำเนินเข้าสู่เนื้อหาสาระของบทเรียน และดำเนินการไปเรื่อยๆ ครูอาจจะพบว่า นักเรียนเริ่มที่จะไม่สนใจบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกิจกรรมในห้องเรียนไม่เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักเรียน ฉะนั้นในการสอนแต่ละครั้ง ครูก็ควรคาดเดาล่วงหน้าไว้ด้วยว่า เหตุการณ์อะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นขณะที่สอน ถ้าครูใช้กิจกรรมแบบนั้นหรือแบบนี้ผลสะท้อนกลับจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ครูมีความมั่นใจที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี
ปัญหาที่นักเรียนไม่สนใจบทเรียน หรือเกิดอาการเบื่อหน่ายในการเรียนดังกล่าว หากครูแก้ปัญหาโดยการใช้การเสริมแรงในทางลบ เช่น นักเรียนคนใดไม่สนใจบทเรียนก็ลงโทษโดยการให้นักเรียนคาบไม้บรรทัดหรือยืนหน้าชั้นก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก รวมทั้งนักเรียนจะเสียโอกาสที่จะเรียนรู้อีกด้วย วิธีแก้ปัญหาที่ดีก็คือ ครูต้องคิดหาและเตรียมกิจกรรมที่สามารถเร้าความสนใจของนักเรียนให้ได้ในทุกครั้งที่สอน มอร์ (Moore , 2009: 340) กล่าวว่า โดยธรรมชาตินักเรียนต้องการค้นหาสิ่งเร้าที่น่าสนใจ หลากหลายและท้าทาย และพวกเขาชอบบรรยากาศที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า
เทคนิคการเร้าความสนใจ หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตั้งใจและจดจ่ออยู่กับ สิ่งที่กำลังเรียน เกิดความกระตือรือร้น และพร้อมที่จะเรียน ซึ่งทำได้โดยการเปลี่ยนเทคนิควิธีสอน หรือเปลี่ยนกิจกรรมไปในลักษณะต่างๆ เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียนในแต่ละขั้นตอนของการสอน ตั้งแต่ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นสอนจนถึงขั้นสรุปสุดท้ายของการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความสนุก เกิดความพอใจในการเรียน และเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาขณะเรียน
วัตถุประสงค์ของการเร้าความสนใจมีหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การมุ่งให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ได้ตามจุดประสงค์ รวมทั้งเพื่อเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมที่จะเรียน และเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้
การเร้าความสนใจก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญได้แก่ ทำให้นักเรียนมีความพร้อม มีความสนใจที่จะเรียนบทเรียนนั้น มีความเข้าใจบทเรียนอย่างแจ่มแจ้งและมีทัศนคติ ที่ดีต่อการศึกษาหาความรู้ รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้ผ่อนคลายความเครียดและเรียนรู้อย่างมีความสุข
ในการเร้าความสนใจ ครูควรคำนึงถึงบุคลิกลีลาท่าทางการสอนของครู ครูที่กระฉับกระเฉง ร่าเริง และมีอารมณ์ขันจะช่วยเร้าความสนใจของนักเรียนได้ดี ถัดมาก็คือ ความตั้งใจในการสอนของครู หากครูมีความตั้งใจในการสอนและมีความปรารถนาดีต่อนักเรียน จะมีความพยายามในการเร้าความสนใจนักเรียนได้ดี ประการสุดท้าย การเตรียมความพร้อมของครู ถ้าครูได้เตรียมกิจกรรมต่างๆ ไว้พร้อม การเร้าความสนใจจะกระทำได้ทันที
พฤติกรรมการสอนที่สำคัญของครูที่ช่วยในการเร้าความสนใจของนักเรียน ได้แก่ การเคลื่อนที่ การใช้ท่าทาง การเปลี่ยนลีลาในการพูดของครู การเปลี่ยนประสาทสัมผัสการรับรู้ของนักเรียน รวมทั้งการให้นักเรียนมีส่วนในการร่วมพูดและให้นักเรียนได้เคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวด้วยกิจกรรมที่เหมาะสม
ครูสามารถนำทฤษฎีพหุปัญญามาประยุกต์ใช้ในการเร้าความสนใจของนักเรียนได้โดยจัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายที่สอดคล้องกับความถนัดของนักเรียนทั้งในด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ ด้านสติปัญญามิติสัมพันธ์ ด้านดนตรี ด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ ด้านการสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้านการเข้าใจตนเองและด้านความเข้าใจธรรมชาติ
บทที่ 11
เทคนิคการเสริมกำลังใจ
เมื่อจะเขียนบทนี้ ผู้เขียนนึกถึงสมัยเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา ครูที่สอนวิชาเรขาคณิตซึ่งเป็นครูประจำชั้นของผู้เขียนได้มอบหมายให้ผู้เขียนและเพื่อนนักเรียนทุกคนวาดรูปสามเหลี่ยมพร้อมทั้งบอกค่าของมุมภายในของรูปสามเหลี่ยมดังกล่าว ผู้เขียนสามารถทำได้ถูกต้อง ครูก็ให้วาดให้เพื่อนร่วมชั้นดูบนกระดานดำ ผู้เขียนเกิดความภาคภูมิใจและชอบที่จะเรียนวิชาดังกล่าว ปัจจุบันผู้เขียนสอนอยู่ในระดับอุดมศึกษา และพบว่านักศึกษาในระดับนี้ ก็ต้องการการเสริมกำลังใจเช่นเดียวกัน ในปีการศึกษา 2548 ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีห้องหนึ่ง สรุปบทเรียนออกมาเป็นผังความคิด (A Mind Map) มีหลายคนทำได้ดีมาก ผู้เขียนจึงให้คะแนนสิบบวก (10+) ผลปรากฏว่า ในการเรียนครั้งถัดมา โดยภาพรวมนักศึกษาสรุปบทเรียนด้วยผังความคิดได้ดีขึ้นมาก มีความประณีต สีสันสวยงามและมีสาระสำคัญครบถ้วน พร้อมทั้งร้องขอ ให้ผู้เขียนให้คะแนนสิบบวกบ้าง ผู้เขียนนึกในใจว่า เพียงแค่เครื่องหมายบวก (+) ก็สามารถทำให้นักศึกษาตั้งใจทำงานได้ดีมากขึ้นขนาดนี้เชียวหรือ
อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างผลของการเสริมกำลังใจ เมื่อผู้เขียนเดินทางไปนิเทศนักศึกษาที่กำลังฝึกสอน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู) เมื่อถามถึงวิธีการแก้ปัญหาของ การที่นักเรียนไม่สนใจเรียน นักศึกษาฝึกสอนหลายๆ คน แก้ปัญหาโดยให้การเสริมกำลังใจที่เหมาะสม ผลปรากฏว่า นักเรียนสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น และในส่วนของกรณีศึกษาซึ่งนักศึกษาฝึกสอนต้องศึกษานักเรียนในรายที่มีปัญหาทางการเรียน พบว่า บางปัญหา เช่น นักเรียนมีพฤติกรรมไม่ค่อยพูดจากับเพื่อนและไม่กล้าแสดงออก ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาทางด้านครอบครัว แต่เมื่อนักศึกษาฝึกสอนได้ให้ความเอาใจใส่ พูดคุย เป็นกันเอง ปรากฏว่านักเรียนที่มีปัญหาดังกล่าวมีความกล้าที่จะพูดคุยและกล้าแสดงออกมากขึ้น นั่นแสดงว่าการเสริมกำลังใจโดยการเอาใจใส่ดูแล ซึ่งเป็นการเสริมกำลังใจอีกรูปแบบหนึ่งก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเกี่ยวข้องกับการเสริมกำลังใจทั้งสิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเสริมกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียนหรือบุคคลทั่วไปที่ประสบกับความล้มเหลวในหน้าที่การงานหรือการศึกษาเล่าเรียน สาเหตุหลักประการหนึ่งก็คือ การขาดกำลังใจ ซึ่งหากได้รับการเสริมกำลังใจที่ดีอาการเหนื่อยยากลำบากใจก็จะลดน้อยลงหรือหมดไป เรื่องที่ว่ายากที่สุดก็อาจสำเร็จลงได้ จึงขอให้นักศึกษาและเพื่อนครูได้ศึกษาเรื่องทักษะการเสริมกำลังใจให้เข้าใจ แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ครูต่อไป
เทคนิคการเสริมกำลังใจ หมายถึง กลวิธีในการแสดงพฤติกรรมชื่นชมนักเรียนของครูที่ทำให้นักเรียนรู้สึกพอใจและต้องการที่จะปฏิบัติซ้ำ และทำให้ดีขึ้นในกิจกรรมที่ได้รับการชื่นชมซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้นมีทัศนะ ที่ดีต่อการเรียนการสอน รวมทั้งมีโอกาสในการแสดงความสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ
วัตถุประสงค์ของการเสริมกำลังใจมีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดความพอใจและรู้สึกภาคภูมิใจที่ ได้รับการชมเชยหรือได้รับรางวัล เรียนอย่างมีชีวิตชีวา สนุกสนาน สนใจและอยากที่จะเรียนบทเรียนนั้นๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รวมทั้งต้องการแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ซ้ำอีกและ ที่สำคัญยิ่งก็คือ นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์
การเสริมกำลังใจมี 2 รูปแบบ คือ การเสริมกำลังใจทางบวกและการเสริมกำลังใจ ทางลบ การเสริมกำลังใจทางบวกนั้นครูจะให้รางวัล คำชมเชย หรือให้คะแนนเพื่อให้นักเรียนมีกำลังใจมากขึ้น ส่วนการเสริมกำลังใจทางลบเป็นการทำให้นักเรียนอยู่ในสถานะที่นักเรียนไม่ชอบหรือไม่พึงประสงค์ และเมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ก็จะอนุญาตให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่นักเรียนไม่ชอบนั้นได้ แตกต่างจากการลงโทษ ซึ่งไม่ให้นักเรียนมีโอกาสแก้ไขในพฤติกรรมของตนเอง
การเสริมกำลังใจที่สำคัญมี 4 ประเภท ได้แก่ 1) การเสริมกำลังใจด้วยวาจา เป็นการใช้คำพูดเพื่อให้นักเรียนรู้ว่า พฤติกรรมที่ตนทำเป็นสิ่งที่ดี เป็นที่ยอมรับ ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าควรทำเช่นนี้อีก ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ 1) การเสริมกำลังใจด้วยวาจาในทันที ด้วยวาจาภายหลัง ด้วยวาจาแบบแก้ไข และการเสริมกำลังใจด้วยวาจาแบบไม่ประเมิน 2) การเสริมกำลังใจด้วยท่าทาง เช่น การพยักหน้า การยิ้ม การแสดงสีหน้าและท่าทางที่ยอมรับ 3) การให้รางวัลและสัญลักษณ์ต่างๆ และ 4) การเสริมกำลังใจโดยการให้นักเรียนเห็นความก้าวหน้าของตน ซึ่งครูสามารถกล่าวเสริมกำลังใจก่อนที่จะให้นักเรียนทำกิจกรรมก็จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ การเรียนได้
ครูควรปฏิบัติเกี่ยวกับการเสริมกำลังใจ ดังนี้ 1) เสริมกำลังใจทันที เมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ดี หรือสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนการสอน 2) วิธีเสริมกำลังใจที่นำมาใช้ ควรสอดคล้องกับพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกมา 3) เสริมกำลังใจพอเหมาะ ไม่บ่อยเกินไป 4) ไม่ควรเสริมกำลังใจเกินความเป็นจริง 5) เสริมกำลังใจด้วยความจริงใจ 6) ควรมีป้ายนิเทศแสดงผลงานของนักเรียนที่ทำได้ดี 7) เลือกวิธีเสริมกำลังใจให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน 8) พยายามหาโอกาสเสริมกำลังใจนักเรียนให้ทั่วถึงกัน 9) การเสริมกำลังใจไม่ควรมาจากครูฝ่ายเดียว ควรมาจากนักเรียนด้วยกันบ้าง 10) ควรมีรูปแบบการเสริมกำลังใจที่หลากหลาย 11) พยายามจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนเกิดการเสริมกำลังใจจากภายใน นั่นคือ นักเรียนต้องการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเอง และ 12) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้น่าสนใจ ทำให้นักเรียนสนใจเรียนได้แม้ครูจะไม่ได้เสริมกำลังใจมากมายก็ตาม
ครูที่ให้แรงเสริมหรือลงโทษแก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม จะสามารถปกครองหรือจัดการชั้นเรียนได้ดี และเป็นการให้กำลังใจที่ดีแก่นักเรียนด้วย แต่หากให้การเสริมแรงซ้ำซาก จนปราศจากความหมาย ทำให้คำชมของครูไม่เป็นการเสริมแรงแต่อย่างใด ครูหลายคนไม่คำนึงว่าแรงเสริมที่ให้แก่เด็กนั้น เป็นแรงเสริมที่เด็กต้องการ หรือทำให้เด็กเกิดความพอใจอย่างแท้จริงหรือไม่ ทำให้การเสริมแรงของครูปราศจากผลตามที่ต้องการ ในทำนองเดียวกันหากครูลงโทษเด็กโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และไม่มีการชี้แจงว่าเด็กควรแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องอย่างไร จะทำให้นักเรียนปฏิบัติตนไม่ถูก จนบางครั้งสร้างปัญหาการหนีเรียน ดังนั้น ครูที่ต้องการใช้การเสริมแรงและการลงโทษนักเรียนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งช่วยให้การปกครองชั้นเรียนมีประสิทธิภาพจึงจำเป็น
ต้องตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ในการเสริมแรงดังกล่าวด้วย
บทที่ 12
เทคนิคการสรุป
ทุกเทคนิคการสอนที่กล่าวมาในบทก่อนหน้านี้ หากครูนำไปใช้ในชั้นเรียนของตนก็จะเกิดประโยชน์ที่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่าง เทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมาย และเทคนิคการใช้สื่อการสอน เป็นต้น อย่างไร ก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งเทคนิคที่มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน นั่นก็คือเทคนิคการสรุปซึ่งหากครูได้สรุปบทเรียน หรือให้นักเรียนได้สรุป หรือครูกับนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียนในแต่ละครั้งของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ก็จะยิ่งทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น
เทคนิคการสรุป หมายถึง กลวิธีที่ครูหรือนักเรียน หรือนักเรียนร่วมกับครูช่วยกันย่อเอาเฉพาะใจความสำคัญของบทเรียนหรือเนื้อหาและกิจกรรมตอนใดตอนหนึ่งหรือทั้งหมด เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้องและตรงตามจุดประสงค์ของบทเรียน
การสรุปมีวัตถุประสงค์หลายประการที่สำคัญได้แก่ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียนในลักษณะองค์รวม เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่เรียนไปกับเนื้อหาใหม่หรือเนื้อหาต่อไป เพื่อเป็นการทบทวนว่าสิ่งที่นักเรียนรู้นั้นถูกต้องหรือไม่ และเพื่อจะได้นำความรู้ที่ถูกต้องนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
หากครูเปิดโอกาสให้นักเรียนสรุปบทเรียนด้วยตนเองจะทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทางด้านความคิด อย่างไรก็ตามหากเป็นเนื้อหาที่ยากครูควรช่วยเหลือนักเรียนในการสรุปหรือครูเป็นผู้สรุปโดยใช้คำถามประกอบให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิด
หลักในการสรุปที่สำคัญได้แก่ ควรมีการสรุปบทเรียนทุกครั้ง และทุกตอนของกิจกรรมการเรียนการสอน โดยสรุปให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ เชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่เข้าด้วยกัน ใช้การสรุปหลายๆ แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้นักเรียนเป็นผู้สรุปด้วยตนเอง และทดสอบหลังการสรุปเนื้อหานั้นๆ
การนำเทคนิคการสรุปไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ครูสามารถทำได้หลายที่สำคัญได้แก่ การประมวลเรื่องและกิจกรรมที่เรียนโดยสังเขป การสรุปแนวความคิดสำคัญ การเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ การถามคำถามนำ การใช้สื่อ การเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การอภิปรายหรือการทำรายงานเกี่ยวกับสาระสำคัญของบทเรียน
การคิด หมายถึง การทำให้ปรากฏเป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ ส่วนเทคนิคการพัฒนา การคิดของนักเรียน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมีคำถามหรือกิจกรรมบางช่วงที่ทำให้นักเรียนได้ฝึกการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง เปรียบเทียบ หรือเทคนิควิธีอื่นๆ ที่สอดคล้องกับบทเรียนแล้วทำให้นักเรียนมีความคิดที่ละเอียด กว้างขวาง ลึกซึ้ง ถูกต้อง มีเหตุผล และน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิม
การพัฒนาการคิดของนักเรียนนั้น มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลายประการที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งให้นักเรียนรู้จักคิด และคิดเป็น กล่าวคือ นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ และรูปแบบการคิดอื่นๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจอย่างมีระบบ มีความถูกต้อง นำไปสู่การค้นพบที่เป็นประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้ทักษะกระบวนการคิดให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
หากครูได้จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกฝนการคิดอยู่อย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้นักเรียนมีทักษะการคิดซึ่งจะก่อประโยชน์อย่างมากมาย ประโยชน์ที่สำคัญสำหรับนักเรียนได้แก่ นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น แก้ปัญหาของตนเองได้ดี สามารถคิดได้ถูกต้องเหมาะสม คิดได้อย่างเป็นระบบ เข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดี ทำให้ความรู้คงทน และการเรียนไม่เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายหรือเคร่งเครียด สำหรับประโยชน์ต่อครูที่สำคัญได้แก่ ครูสามารถสอนได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลงในการอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ ปัญหาด้านการจัดการชั้นเรียนจะน้อยลง ทำให้สอนได้สนุก เหนื่อยน้อยลง ทำให้มีพลังเหลือที่จะพัฒนาและออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
มิติของการคิดมี 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเนื้อหาที่ใช้ในการคิด ด้านคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อการคิด ด้านทักษะการคิด ด้านลักษณะการคิด ด้านกระบวนการคิด และด้านการควบคุมและประเมินการคิดของตน
ในการคิดต้องมีเนื้อหาที่ใช้ในการคิดอยู่ด้วยเสมอ การที่เรามีความคิดที่มีคุณภาพนั้น เราต้องเป็นคนใจกว้าง เป็นธรรม ใฝ่รู้ กระตือรือร้น ช่างวิเคราะห์ ขยัน อดทน และมีมนุษย-สัมพันธ์ดี รวมทั้งมีทักษะการคิด
ส่วนด้านลักษณะการคิด ที่สำคัญมี 9 ลักษณะ ได้แก่ คิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูกทาง คิดกว้าง คิดไกล คิดลึกซึ้ง และคิดอย่างมีเหตุผล และมิติความสามารถในการคิดสามารถจำแนกได้เป็น 10 มิติ ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงสังเคราะห์ การคิดเชิงเปรียบเทียบ การคิดเชิงมโนทัศน์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงประยุกต์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงบูรณาการ และการคิดเชิงอนาคต
สามารถแบ่งลักษณะการคิดได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับพื้นฐาน เช่น การคิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียดลออ และคิดให้ชัดเจน เป็นต้น 2) ระดับกลาง เช่น การคิดกว้าง คิดไกล และการคิดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น และ 3) ระดับสูง เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นต้น บทที่ 13
เทคนิคการพัฒนาการคิดของนักเรียน
นักเรียนบางคนมีไหวพริบดีและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี ในขณะที่นักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ไม่สามารถประเมิน ผลงานของตนเองหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้ หรือเมื่อครูให้สร้างสรรค์ชิ้นงาน ก็จะใช้เวลาค่อนข้าง มากและไม่ค่อยมีความแปลกใหม่ เพราะขาดทักษะความคิดสร้างสรรค์
ทักษะการคิดเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ หากครูได้จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกคิดบ่อยๆ นักเรียนก็มีทักษะในการคิด ทำให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการคิดก็คือ การคิดที่ถูกต้องเหมาะสม ฉะนั้นครูต้องปลูกฝังให้นักเรียนคิดในสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงาม รวมทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมและตนเอง รายละเอียดของเทคนิคการพัฒนาการคิดของนักเรียนจะได้กล่าวในบทนี้
การสอนโดยการเน้นกระบวนการคิดนั้นเป็นการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดขยายจากความคิดเดิม เช่น ละเอียดรอบคอบ กว้างขวาง ลึกซึ้ง เห็นการณ์ไกล มีเหตุผลถูกต้อง และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดพื้นฐาน ทักษะการคิดที่เป็นแกนสำคัญ ทักษะการคิดขั้นสูง และทักษะการคิดโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ตาม ความเหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ของนักเรียน รวมทั้งการฝึกทักษะกระบวนการคิดต่างๆ เช่น กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
เทคนิคในการพัฒนาการคิดของนักเรียนมีหลากหลายเทคนิค ที่สำคัญได้แก่ 1) กระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนให้มากที่สุด 2) ฝึกให้นักเรียนบูรณาการความรู้ที่ตัวนักเรียนมีกับองค์ความรู้ใหม่ๆ 3) ฝึกให้นักเรียนได้คิดในหลายๆ ลักษณะและมิติของการคิด 4) ฝึกให้รู้จักประเมินค่า ประเมินข้อมูล เพื่อสร้างแนวทางที่หลากหลายนำไปสู่การเลือกที่ดีที่สุด
การส่งเสริมให้นักเรียนฝึกคิดนั้น ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการคิด มีเทคนิคที่ดีใน การตั้งคำถาม ให้เวลาสำหรับการคิดแก่นักเรียนและครูควรเตรียมเอกสารต่างๆ ให้นักเรียนได้ค้นคว้าหรือให้ค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน ครูต้องจัดห้องเรียนให้เอื้อ ต่อการฝึกคิด จัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและเร้าความสนใจ รวมทั้งให้การเสริมกำลังใจอยู่เสมอ
ในการจัดห้องเรียนและบรรยากาศที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นั้น ไม่ควรให้จำนวนนักเรียนมากเกินไป และองค์ประกอบของห้อง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องพร้อมจะเคลื่อนย้าย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ รวมทั้งการจัดให้มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ และสถานที่สำหรับแสดงผลงานของนักเรียนอีกด้วย
อารมณ์ขันและการเรียนรู้ที่สนุกสนาน รวมทั้งรูปแบบการสอนและการฝึกนักเรียนบางรูปแบบก็ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การวัดและประเมินผลต้องไม่ทำให้เกิดการแข่งขันจนเกินไป ต้องทำให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าของผลงานจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกๆ คน นอกจากนี้ครูต้องช่วยเหลือ ปรับปรุง แก้ไขพฤติกรรมและลักษณะของนักเรียนที่เป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์
บทที่ 14
เทคนิคการใช้ผังกราฟิก
การสอนเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ ให้แก่นักเรียนนั้น ครูย่อมมุ่งหวังให้นักเรียนจดจำเนื้อหาสาระและมีทักษะในการคิด อย่างไรก็ตามเพียงแค่ฟังหรืออ่านเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการจัด ลำดับข้อมูลที่ได้รับให้เป็นระบบจะทำให้นักเรียนไม่สามารถจดจำได้เร็วและไม่เกิดทักษะการคิดดังกล่าว ดังนั้น ครูจึงต้องหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนเรียบเรียงความรู้ที่ได้รับอย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการจดจำ และง่ายต่อการทบทวน เทคนิคหนึ่งที่ครูสามารถนำมาใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ก็คือ เทคนิคการใช้ผังกราฟิก (Graphic Organizers)
เมื่อพูดถึงผังกราฟิก บางท่านอาจจะฟังแล้วไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงผังความคิด (Mind Map) หลายท่านรู้จักกันดี ความจริงแล้วผังกราฟิกมีหลากหลายลักษณะหรือรูปแบบ ผังความคิดเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในหลายรูปแบบของผังกราฟิกดังกล่าว
ผังกราฟิกมีประโยชน์ต่อครูและนักเรียนอย่างยิ่ง การจะจดจำเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมดนั้นเป็นการยาก แต่เมื่อเข้าใจแล้วเขียนเป็นผังกราฟิกในรูปแบบที่เหมาะสมจะทำให้เข้าใจและจดจำความรู้นั้นได้นาน และเมื่อนำไปอธิบายหรือเสนอคนอื่น คนที่ฟังการอธิบายพร้อมกับมีแผนผังประกอบก็จะเข้าใจได้ง่ายกว่าการอธิบายเพียงอย่างเดียว
เทคนิคการใช้ผังกราฟิก หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้แผนภูมิ จุด หรือภาพชนิดต่างๆ เพื่อเชื่อมโยง หรือประมวลข้อมูลหรือความคิดสำคัญๆ ให้เป็นระบบระเบียบ ทำให้จดจำเนื้อหาได้ง่ายและเร็ว รวมทั้งการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนของครูที่ให้นักเรียนวาดผังกราฟิกของตนเองเพื่อนำเสนองานหรือสรุปงานอีกด้วย
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ครูต้องออกแบบให้มีกิจกรรมที่หลากหลายการใช้ผังกราฟิกก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะ การพัฒนาทักษะกระบวนการคิด และการสรุปเนื้อหาการเรียนรู้ นอกจากนี้ ครูยังสามารถใช้ ผังกราฟิกในการนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียน อีกทั้งเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานจากการบูรณาการงานศิลปะเข้าไปในการออกแบบผังกราฟิกชนิดต่างๆ เช่น การระบายสี การวาดรูป เป็นต้น
การใช้ผังกราฟิกในการเรียนการสอน มีประโยชน์ในด้านการช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาสาระของบทเรียนได้ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนน่าสนใจ ใช้ได้ในทุกขั้นตอนของการสอน อีกทั้งสามารถบูรณาการงานศิลปะในการใช้ผังกราฟิกได้อีกด้วย
ประเภทของผังกราฟิกสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) ผังแสดงความคิด รวบยอดของข้อมูลหรือสาระสำคัญของข้อมูล 2) ผังแสดงเปรียบเทียบข้อมูล 3) ผังแผนภูมิความคิดหรือผังกราฟิกที่แสดงข้อมูลเป็นเหตุเป็นผลกัน 4) ผังแสดงการเรียงลำดับข้อมูล หรือขั้นตอนต่างๆ และ 5) ผังแสดงการจัดหมวดหมู่ของข้อมูลหรือหมวดหมู่ของความคิด
แผนผังความคิดเป็นผังแสดงโครงสร้าง มโนทัศน์ และสาระหลักๆ ของเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเขียนความคิดหลักไว้ตรงกลางหรือตรงจุดเริ่มต้น และโยงเส้นให้สัมพันธ์กับความคิดรอง ความคิดย่อย ประเด็นย่อยตามลำดับ อาจแทนความหมายของความคิดนั้นด้วยข้อความที่เป็น วลี คำ ประโยค หรือภาพสัญลักษณ์ก็ได้
การใช้ผังกราฟิกในกิจกรรมการเรียนการสอนมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อครูและนักเรียน ครูควรเลือกใช้ผังกราฟิกชนิดต่างๆ เพื่อสรุปหรือนำเสนอเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน รวมทั้งให้นักเรียนได้ฝึกเขียนผังกราฟิกของตนเองเพื่อสรุปสิ่งที่เรียนรู้หรือนำเสนอความคิดใหม่ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์ในชั้นเรียน
บทที่ 15
เทคนิคการใช้เกมประกอบการสอน
“เกม” เป็นสิ่งเร้าความสนใจ สร้างความสนุกสนานให้กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ไม่ได้เป็นผู้แข่งขันเอง เพียงแต่ได้เป็นฝ่ายหรือเป็นผู้ชมการแข่งขันก็ทำให้เกิดความตื่นเต้น สนุกสนาน ผู้ใหญ่และเยาวชนจำนวนมากที่หลงใหลในเกมไปในทางที่ผิด แม้จะก่อให้เกิด ความสนุกสนานแต่ก็ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้อีกด้วย เนื่องจากมีความต้องการของรางวัลที่ได้จากเกม หรือต้องการเอาชนะจนเกินความพอดี เช่น เกมการพนันต่างๆ รวมทั้งเกมคอมพิวเตอร์ที่เป็นปัญหาร้ายแรงของเยาวชนไทยในปัจจุบันอีกด้วย ที่กล่าวมาให้ข้อคิดที่ดีว่า เกมเมื่อนำมาใช้ประกอบการสอน ก็จะให้คุณประโยชน์ในการเร้าความสนใจ รวมทั้งให้นักเรียนรู้จักวางแผนทำงานเป็นทีมและเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของเกม แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมเกมประกอบการสอนจะต้องไม่เน้นที่ของรางวัลหรือการแพ้ชนะจนเกินไป จนทำให้คุณค่าของเกมประกอบการสอน ลดน้อยลงและเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมของนักเรียนตามมาได้
เกม หมายถึง การเล่นเพื่อความสนุกและมีกติกากำหนดในการแข่งขัน และเมื่อนำมาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนก็กลายเป็นเกมประกอบการสอน ซึ่งจะทำให้บทเรียนน่าสนใจ มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน และพัฒนากระบวนการในการทำงานร่วมกันของนักเรียนรวมทั้งนักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของเกมที่ตั้งไว้
ส่วนเทคนิคการใช้เกมประกอบการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน โดยให้นักเรียนได้เล่นหรือแข่งขันเพื่อความสนุกสนานและมีกติกากำหนดเพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของเกมที่ตั้งไว้
วัตถุประสงค์ที่สำคัญของเกม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือเกมประกอบ การสอน ได้แก่ 1) เพื่อเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักปฏิบัติตามกฎกติกา 2) เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักคิด และตัดสินใจ 3) ฝึกให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้การให้อภัย 4) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย 5) เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และผ่อนคลายอารมณ์เครียด 6) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ 7) เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียน และ 8) เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเล่นเกมแล้วเชื่อมโยงกับบทเรียน เพื่อให้เข้าใจบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของเกมมีหลายประการ ที่สำคัญ ดังนี้ 1) เร้าความสนใจ และช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะการคิด 2) ครูสามารถใช้เกมทดสอบความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่เรียนได้ 3) เป็นการฝึกให้นักเรียนมีวินัยในตนเอง เคารพกติกาของการเล่น 4) ทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีในการเรียน 5) ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการแสดงออกของนักเรียนแต่ละคนในขณะที่เล่นเกม ซึ่งจะช่วยให้ครูได้วิเคราะห์และปรับพฤติกรรมของนักเรียนให้เป็นไปในทางที่ต้องการ 6) ช่วยฝึกคุณธรรมให้แก่เด็ก เช่น ฝึกความอดทน ความสามัคคี และมีน้ำใจเป็นนักกีฬา 7) ใช้เป็นกิจกรรม ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เสริมบทเรียน และสรุปบทเรียน 8) ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา และ 9) ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา การสังเกต และจดจำ
เกมมีหลายประเภทหรือหลายรูปแบบ อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ เกมการเล่นและเกมการศึกษา เกมการเล่นมีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนาน แต่เกมการศึกษานั้น นอกจากมีความสนุกสนานแล้ว ต้องเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการเรียนการสอน
หลักการสำคัญในการเลือกเกมประกอบการสอน ได้ดังนี้ 1) ควรเลือกเกมที่เหมาะกับสภาพชั้นเรียน จำนวนนักเรียน อายุ ระดับชั้นของนักเรียน เวลา เนื้อหาสาระที่เรียน และจุดประสงค์การเรียนรู้ 2) คำนึงถึงความสนใจ และความสามารถของนักเรียน 3) คำนึงถึงความมุ่งหมายของการเล่นเกมในแต่ละชนิด 4) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนในการเลือกเกมในการเล่น 5) ในกรณีที่ชั้นเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก ควรเป็นเกมที่แข่งขันเป็นทีม 6) ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ความคุ้มค่าในการลงทุนในวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นเกม และความเหมาะสมกับบทเรียน 7) หากเปิดโอกาสให้เด็กเลือกเกมบ่อยๆ ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นเกมใหม่ๆ ครูควรคำนึงถึงความมุ่งหมายเป็นหลัก 8) เกมจะต้องสลับซับซ้อนพอที่จะเรียกร้องความสนใจให้แก่ผู้เล่น แต่ก็ไม่ควรซับซ้อนมากเกินไปจนต้องใช้เวลาเล่นนาน 9) เกมจะต้องง่ายต่อการควบคุม และ 10) ให้นักเรียนคิดหรือเลือกเกมเอง เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน
ขั้นตอนของการใช้เกมประกอบการสอน มีดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นเร้าความสนใจให้นักเรียนสนใจบทเรียน และมีความพร้อมในการเรียน 2) ขั้นดำเนินกิจกรรม ครูอธิบายวิธีการเล่น หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เด็กเข้าใจ ทดลองเล่นก่อนจะดำเนินการเล่นจริง 3) ขั้นประเมินผล นำผลจากเล่นเกมมาวิเคราะห์เพื่อดูว่าการใช้เกมประกอบการสอนได้ผลตรงตามจุดมุ่งหมายเพียงใด และ 4) ขั้นสรุป ชี้แนะให้นักเรียนเห็นส่วนเสียของตน ย้ำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนอีกครั้งหนึ่ง
เทคนิคการใช้เกมประกอบการสอน ที่สำคัญ มีดังนี้ 1) ในการเล่นเกมนั้น ครูควรเน้นการให้นักเรียนได้คิดอย่างอิสระ มีการแสดงออกทั้งด้านร่างกายและความรู้สึก ควรยกย่องและชมเชยนักเรียนที่มีความคิดและการกระทำที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ 2) ครูควรรู้จักวิธีการจัดการชั้นเรียนโดยไม่ให้รบกวนห้องเรียนอื่นๆ 3) ต้องเป็นเกมที่ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และเป็นเกมที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่เรียน 4) ครูไม่จำเป็นต้องจัดกลุ่มผู้เล่นใหม่ทุกครั้งที่เล่น การให้เด็กอยู่ประจำกลุ่มก็ทำให้ครูเห็นพฤติกรรมเด็กหลายอย่าง 5) แต่ละกลุ่มควรมีเครื่องหมาย สี หรือสัญลักษณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจน 6) ถ้าเป็นเกม การเล่นใหม่ๆ ครูต้องให้นักเรียนเข้าใจความมุ่งหมายและวิธีการเล่นอย่างชัดเจน 7) ครูจะต้องเน้นให้นักเรียนเล่นตามกฎเกณฑ์ หรือระเบียบที่วางไว้ และสาธิตการเล่นที่ถูกต้องให้นักเรียนดูอย่างแจ่มแจ้ง 8) กำหนดเวลาในการเล่นไว้ให้แน่นอน 9) ครูต้องมีส่วนเน้นเรื่องความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา 10) ครูควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดอุปกรณ์ประกอบการเล่นบ้าง หรือส่งเสริมให้นักเรียนลองคิดหาการเล่นที่จะมาใช้ประกอบการเรียนและการสอนเองบ้าง และ 11) ครูควรประเมินผลการใช้เกมแต่ละเกม เพื่อการแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
บทที่ 16
เทคนิคการสร้างอารมณ์ขันในชั้นเรียน
อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วในปัจจุบันว่า มีคนจำนวนมากที่มีความเครียดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือความขัดแย้งในที่ทำงานหรือในสังคม ข่าวที่นำเสนอในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับมักจะเป็นข่าวเกี่ยวกับการทำร้ายกัน ซึ่งจะทำให้จิตใจหดหู่และเกิดความเครียดได้ เมื่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองเครียดก็จะส่งผลต่อตัวนักเรียน และเมื่อนักเรียนต้องมาเจอบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมในโรงเรียนหรือในชั้นเรียนที่เคร่งเครียดอีก นักเรียนจะมีความสุขได้อย่างไร
คนเราชอบอะไรๆ ที่ทำให้อารมณ์ดี เรื่องขำขันก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้อารมณ์ดี สังเกต ได้ว่าในปัจจุบัน รายการต่างๆ ทางโทรทัศน์มักจะมีช่วงของการแสดงตลก และในหลายๆ รายการมีดาราตลกเป็นพิธีกรหลักหรือพิธีกรร่วม ในชั้นเรียนก็เช่นเดียวกัน นักเรียนชอบเรียนกับครูที่สอนสนุกเพราะครูมีเทคนิควิธีการสอนที่หลากหลายและมีกิจกรรมที่ท้าทายความสามารถของนักเรียน หรือมีการเล่าเรื่อง การแสดงท่าทาง หรือมีอารมณ์ขันรูปแบบอื่นๆ ให้นักเรียนได้หัวเราะกันบ้าง ดังนั้นการสร้างอารมณ์ขันของครูในชั้นเรียนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ไม่ตึงเครียด ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
ในการจัดการเรียนการสอน ส่วนใหญ่ครูจะต้องสอนเนื้อหาสาระหรือจัดกิจกรรมที่เป็นวิชาการให้แก่นักเรียน บรรยากาศในการเรียนการสอนจึงเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด นักเรียนจะรู้สึกเบื่อหน่าย หากครูมีอารมณ์ขันกับนักเรียนบ้างจะทำให้บรรยากาศในการเรียนการสอนดีขึ้น นักเรียนก็จะรู้สึกผ่อนคลายและมีพลังที่จะเรียนรู้ต่อไป ดังที่ หทัย ตันหยง (2535: 187) กล่าวว่า ในกิจกรรมการเรียนการสอน ปัญหาหนึ่งที่ครูหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือความเบื่อหน่ายในการเรียนรู้ ครูจึงต้องทำให้นักเรียนรู้สึกตื่นตัว สนุกสนาน ไม่เบื่อหน่ายในการเรียนรู้ วิธีทั่วๆ ไปที่ครูนำมาใช้ คือ การเปลี่ยนบรรยากาศให้แปลกใหม่ ดึงดูดความสนใจของนักเรียน สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้มากที่สุดคือ อารมณ์ขัน ส่วนทองคูณ หงส์พันธุ์ (2542: 44) กล่าวว่า ครูที่ดี ต้องมีอารมณ์ขัน เพราะอารมณ์ขันของครูจะทำให้บรรยากาศของการเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างดี นักเรียนไม่เครียด มีความรู้สึกเป็นกันเอง สบายใจ
เทคนิคการสร้างอารมณ์ขันในชั้นเรียน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งทำให้นักเรียนได้หัวเราะ มีความสนุกสนาน เบิกบานใจ และไม่เครียดส่งผลให้ครูมีอารมณ์ดี และสร้างเสริมให้ทั้งนักเรียนและครูมีลักษณะนิสัยที่มักเห็นเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องชวนขัน มองโลกในแง่ดีและมีความคิดเชิงบวก
วัตถุประสงค์หลักของการสร้างอารมณ์ขันในชั้นเรียนก็คือเพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลาย ความตึงเครียดจากเนื้อหาของบทเรียน และมีวัตถุประสงค์อื่นที่สำคัญ ได้แก่ 1) เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและนักเรียน 2) เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี 3) เพื่อสร้างเจตคติ ที่ดีต่อครูต่อวิชาและต่อการศึกษาหาความรู้ และ 4) เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา และ 5) สร้างเสริมให้ทั้งนักเรียนและครูมีลักษณะนิสัยที่มักเห็นเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องชวนขัน มองโลกในแง่ดีและมีความคิดเชิงบวก
ประโยชน์ของอารมณ์ขันในชั้นเรียนนั้นมีมากมาย ที่สำคัญๆ ได้แก่ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนกับนักเรียน สร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมองโลกในแง่ดีและมีความสุขในการเรียนรู้ นอกจากนี้ครูที่มีอารมณ์ขันจะแก้ปัญหาได้ดี รวมทั้งมีเทคนิควิธีในการเสริมกำลังใจที่ดีให้แก่นักเรียน และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ทำให้นักเรียนและครูมีสุขภาพดี
เทคนิคสำหรับจูงใจตนเองให้มีอารมณ์ขันมีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่ การหลอกตัวเองในกระจก ฟังเสียงตัวเองจากเครื่องบันทึกเสียง สังเกตอากัปกริยาของสัตว์น่ารักๆ ผิวปากหรือฮัมเพลงเบาๆ และที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การอ่านและสะสมนิทานอารมณ์ขัน หนังสือการ์ตูน ดูภาพยนตร์ ดูโทรทัศน์รายการขำขันให้เป็นนิสัยแล้วนำมาประยุกต์ในชั้นเรียนให้เหมาะสม
เทคนิคการสร้างอารมณ์ขันในการสอนนั้นมีหลากหลายเทคนิค ที่สำคัญได้แก่ ครูต้องมองโลกในแง่ดี ฝึกตนเองให้มีไหวพริบในการสร้างอารมณ์ขัน รวมทั้งสะสม จดจำเรื่องตลกต่างๆ ไว้ใช้ หรือนำมาดัดแปลงแล้วประยุกต์ใช้กับชั้นเรียน ซึ่งสามารถทำได้โดย 1) ใช้วาจาท่าทาง การแสดงออกทางใบหน้า และการใช้น้ำเสียงที่ชวนให้เกิดอารมณ์ขัน 2) การเล่าเรื่องขำขัน ซึ่งครูควรกำหนดไว้ในแผนการสอน และควรเป็นเรื่องขำขันที่สอดคล้องกับบทเรียน ใช้น้ำเสียงและท่าทางให้เหมาะกับเรื่องที่เล่า และต้องเป็นเรื่องหรือสิ่งที่สุภาพ ไม่นำปมด้อยของนักเรียนมาพูดให้เป็นเรื่องขำขัน
ครูที่มีอารมณ์ขันอยู่โดยธรรมชาติแล้ว ให้นำมาใช้ในชั้นเรียนอย่างเหมาะสม แต่ถ้าหาก ยังไม่มีก็ให้ฝึกปฏิบัติการสร้างอารมณ์ขัน โดยการศึกษาจากสื่อต่างๆ และในที่สุดครูอาจมีปมขันหรือบุคลิกอารมณ์ขันเป็นลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งสามารถจูงใจนักเรียนให้สนใจเรียนหรือผ่อนคลายความเครียดจากเนื้อหาสาระได้
การแสดงอารมณ์ขันนั้นประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ส่วน คือ เนื้อหาสาระของเรื่อง น่าขัน บุคลิกภาพของครู ศิลปะการแสดงออก และวิธีนำเรื่องและจบเรื่อง ครูควรฝึกปฏิบัติและปรับปรุงเทคนิคการสร้างอารมณ์ขันของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
บทที่ 17
เทคนิคการจัดการชั้นเรียน
ปัจจุบันเราคงได้ยินคำว่า “การจัดการเรียนรู้” บ่อยมากขึ้น ซึ่งใช้แทน “การสอน” เพราะต้องการให้เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญแทนจากเดิมที่ครูมีบทบาทหลักในการบอกกล่าว อธิบายความรู้ให้กับนักเรียน หรือในหน่วยงาน สถาบัน องค์กรต่างๆ มักจะได้ยิน คำว่า “บริหารจัดการ” อยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาองค์กรนั้นๆ ไปสู่ความสำเร็จ ชั้นเรียนก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อให้บรรลุผลตามที่ได้ตั้งไว้ นั่นคือห้องเรียนมีความเป็น
ระเบียบเรียบร้อย นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และพร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมทั้งแสดงออกถึงความมีระเบียบวินัย รวมทั้งบรรยากาศของห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ หากเป็นได้อย่างที่กล่าวมา แสดงว่าห้องเรียนนั้นมีการจัดการชั้นเรียนที่ดี
นักศึกษาที่กำลังฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูหรือฝึกสอนมักจะมีปัญหาด้านการจัดการชั้นเรียนค่อนข้างมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีประสบการณ์น้อยทั้งในด้านเทคนิควิธีการสอนที่จะเร้าความสนใจของนักเรียน รวมทั้งพฤติกรรมของนักเรียนจำนวนมากในปัจจุบันที่มีพฤติกรรมไม่สนใจเรียน แต่อาจจะสนใจกิจกรรมที่เป็นปัญหาของสังคมไทย ทั้งการพนันฟุตบอล ชู้สาว เกมคอมพิวเตอร์ และสารเสพติด เป็นต้น ดังนั้น หากนักศึกษาฝึกสอนดังกล่าวได้เรียนรู้ถึงเทคนิคการควบคุมชั้นเรียนก็จะช่วยให้มีความมั่นใจในการพยายามปรับพฤติกรรมของนักเรียนไปสู่การสนใจในกิจกรรมการเรียนมากยิ่งขึ้น
นักเรียนแต่ละคนมีลักษณะทางกายภาพ ทางจิตภาพ และทางสังคมไม่เหมือนกัน เมื่อต้องมาเรียนรู้ร่วมกันในห้องเดียวกันย่อมเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมต่างๆ ในขณะที่ครูกำลังดำเนิน
การเรียนการสอนได้ เช่น การไม่มีสมาธิในการเรียนรู้ การไม่ปฏิบัติงานตามที่ครูมอบหมายหรือทำกิจกรรมที่ครูมอบหมายไม่ได้ การรังแกหรือทำร้ายเพื่อนนักเรียน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่านอกจากครูจะมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนแล้วยังต้องมีหน้าที่จัดการกับปัญหาเหล่านี้ด้วย ดังที่ ม.ร.ว.สมพร สุทัศนีย์ (2541: 133) กล่าวว่า นอกจากครูจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านวิชาการแล้วครูยังต้องรับผิดชอบความประพฤติของนักเรียนด้วย เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ
สุรางค์ โค้วตระกูล (2548: 435) ได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการห้องเรียน (Classroom Management) และกล่าวสอดคล้องกับข้างต้นว่า ไม่มีเทคนิคหรือวิธีการที่จะใช้ในการจัดการห้องเรียนหรือแก้ปัญหาระเบียบวินัยที่ดีที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะห้องเรียนห้องหนึ่งๆ มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ สภาพสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนหนึ่งๆ ก็แตกต่างกัน แต่ละคนก็มีบุคลิกภาพ ภูมิหลัง สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งวัฒนธรรมทางบ้านของนักเรียนก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น ครูจึงควรเลือกวิธีการที่คิดว่าเหมาะสมกับสภาพของห้องเรียนของตน
เทคนิคการจัดการชั้นเรียน หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้การจัดระเบียบชั้นเรียนหรือจัดการพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน ทำให้การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นไปตามวัตถุประสงค์และความคาดหวังของครู และบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
การจัดการชั้นเรียนมีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อ มุ่งจัดระเบียบชั้นเรียนให้มีสภาพที่เหมาะสมและพร้อมที่จะดำเนินกระบวนการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดประสงค์ได้อย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน และมีประสิทธิภาพ และเป็นการฝึกฝนนักเรียนให้ปฏิบัติตนได้ถูกต้องและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในชั้นเรียนได้อย่างมีความสุข ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีและมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์
ประโยชน์ของการควบคุมชั้นเรียนที่สำคัญ มีดังนี้ 1) ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตรงตามวัตถุประสงค์หรือความคาดหวังของครู 2) ทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนตนเองให้ปฏิบัติตนอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างถูกต้องและมีความสุข และ 3) ทำให้ห้องเรียนมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
ก่อนเปิดภาคเรียนหรือการเรียนในคาบแรก ครูควรทำความตกลงกับนักเรียนแล้วออกมาเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ของห้อง และระบุผลทั้งทางบวกและทางลบที่นักเรียนจะได้รับ หลังการปฏิบัติหรือแสดงพฤติกรรมต่างๆ และในการจัดการชั้นเรียนนั้น ต้องจัดการห้องเรียนให้ดีตั้งแต่เริ่มแรกของภาคเรียน และดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเทคนิคในการจัดการชั้นเรียนนั้นมีหลากหลาย ครูควรได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล
เทคนิคการจัดการชั้นเรียนที่สำคัญสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 1) เทคนิค การเตรียมตัว 2) เทคนิคการใช้กฎ ระเบียบ 3) เทคนิคการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี 4) เทคนิค การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจ 5) เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน และ 6) เทคนิคการเสริมกำลังใจและการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะและเทคนิคบางประการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการ ชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้แก่ 1) การจดจำรายชื่อของนักเรียน 2) การจัดการเวลาการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ 3) การจูงใจนักเรียนเพื่อการเรียนรู้ 4) การสร้างความรู้สึกในทางบวก และ 5) การจัด
ห้องเรียนให้เป็นต้นแบบของสังคมประชาธิปไตย
แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนมีหลายแนวทาง หากครูทราบสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ก็จะทำให้แก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น สาเหตุของพฤติกรรมที่ ไม่พึงประสงค์ อาจเนื่องมาจากความต้องการความเป็นอิสระของนักเรียนวัยรุ่น การขาดความอบอุ่นและความเอาใจใส่จากครอบครัว สภาพของห้องเรียนไม่เหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากครูขาดบุคลิกภาพที่ดีในการจัดการชั้นเรียน ไม่ได้เตรียมแผนกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีพอ ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา กลุ่มพฤติกรรมนิยมเน้นที่การกำหนดสภาพแวดล้อมและผลกรรมที่เด็กจะได้รับหลังพฤติกรรมที่เขากระทำ ส่วนกลุ่มมนุษยนิยมเน้นที่การให้นักเรียนได้ทราบถึงเหตุผลของการมี พฤติกรรมที่พึงประสงค์ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้าง ความเชื่อถือและมีการสื่อสารที่ดี เพื่อช่วยให้เด็กแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนเทคนิควิธีการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น ครูสามารถเลือกให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ เช่น ครูให้คำแนะนำในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ หรือใช้การส่งสัญญาณด้วยกิริยาท่าทาง การเรียกชื่อนักเรียน การใช้อารมณ์ขัน การใช้คำพูดด้านบวก การเตือนให้นักเรียนนึกถึงกฎ ระเบียบในชั้นเรียน การให้นักเรียนมีโอกาสเลือก การใช้คำถามหรือการปรามด้วยคำพูด เป็นต้น
ในการแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง ครูอาจใช้วิธีต่างๆ ตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์ เช่น ยกเลิกสิทธิพิเศษ เปลี่ยนตำแหน่งที่นั่ง ให้นักเรียนเขียนความรู้สึกที่สะท้อนปัญหา ให้เวลานอกกับนักเรียนหรือกักตัวนักเรียน เป็นต้น และหากนักเรียนยังมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหลายครั้ง ครูก็ต้องติดต่อกับผู้ปกครองให้ร่วมแก้ปัญหา โดยมีอาจารย์แนะแนวและนักจิตวิทยาร่วมให้คำปรึกษา
การลงโทษมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การลงโทษโดยใช้คำพูด การให้อยู่เย็นหลังเลิกเรียน การตัดสิทธิ์บางอย่าง และการมอบหมายงาน ส่วนการลงโทษโดยการตีนั้นเป็นข้อห้ามปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งครูต้องทราบนโยบายในการลงโทษนักเรียนของโรงเรียนว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งไม่ขู่ว่าจะลงโทษทั้งๆ ที่ครูไม่สามารถลงโทษได้ และไม่ให้การบ้านเพิ่มเป็นการลงโทษนักเรียน ลงโทษ ให้เหมาะสมกับความผิดโดยไม่ลำเอียง และครูต้องจดบันทึกและเก็บหลักฐานในกรณีที่นักเรียนประพฤติผิดรุนแรง
บทที่ 18
เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียน
มีคำกล่าวว่าการเป็น “ครู” มีหน้าที่สอน “คน” ไม่ใช่เฉพาะ “สอนหนังสือ” ซึ่งหมายความว่า คนที่เป็น “ครู” มีหน้าที่อบรมสั่งสอนคุณธรรม จริยธรรมให้นักเรียนเป็นคนดีผู้เขียนขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งในประเด็นของปัญหาด้านพฤติกรรมของนักเรียนในปัจจุบันทั้งทางด้านชู้สาว การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เสพของมึนเมา ทะเลาะวิวาท ติดเกมคอมพิวเตอร์ การแต่งกาย ไม่เหมาะสม การใช้โทรศัพท์มือถือราคาแพง การไม่สนใจเรียนและไม่เคารพครูอาจารย์และ ผู้อาวุโส และที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาเหล่านี้ ยิ่งนับวันจะยิ่งเป็นปัญหาในระดับชั้นของนักเรียนที่ต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและประถมศึกษาตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ อีกด้วย เช่น การไม่มีน้ำใจ เห็นแก่ตัว ไม่มี ความเสียสละ ไม่มีระเบียบวินัย เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่ของครู ผู้บริหาร และผู้ปกครองจะได้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว วิธีหนึ่งที่ครูสามารถกระทำได้ก็คือ การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่างๆ เข้าไปในกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ โดยมีแนวคิดที่สำคัญยิ่งว่า “หากนักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมทั้งทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”
ในการจัดการเรียนการสอน นอกจากครูจะต้องสอนเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ ให้แก่นักเรียนแล้ว หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของครูก็คือการอบรม สั่งสอนคุณธรรม จริยธรรมต่างๆ ให้แก่นักเรียน การสอนคุณธรรม จริยธรรมนั้น ครูสามารถสอนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะในขณะที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูควรสอนคุณธรรม จริยธรรมควบคู่กับเนื้อหาสาระด้วยเพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการมีคุณธรรม จริยธรรม ดังที่ อาภรณ์ ใจเที่ยง (2542:128) กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของครูทุกคนในการอบรมบ่มนิสัยนักเรียน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ที่เรียกว่า “ความรู้คู่คุณธรรม” ในการสอนทุกครั้งครูควรสอดแทรกคุณธรรมหรือคุณค่าความเป็นคนให้แก่นักเรียน ไม่ใช่มุ่งแต่ให้นักเรียนได้รับความรู้เท่านั้น เพราะคุณธรรมเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการมีคุณค่าของความเป็นคน การสอนให้นักเรียนมีความรู้คู่คุณธรรมจะตรงกับความหมายของหลักสูตร คือ การจัดมวลประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่นักเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ทั้งแก่ตนเองและสังคมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม หมายถึง การที่ครูได้อธิบาย สั่งสอน ตักเตือน อบรมบ่มนิสัยให้นักเรียนมีสภาพของคุณงามความดี มีคุณลักษณะที่ดี ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะหรือคำสั่งสอนในศาสนาที่ตนนับถือ และรวมถึงการมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่างๆ อีกด้วยซึ่งเป็นการกระทำที่ดีที่ควรได้รับการยกย่อง ชมเชย กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา ครูจะให้เพิ่มเติมหรือบูรณาการเข้าไปในระหว่างการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน
การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมมีประโยชน์ต่อการพัฒนานักเรียนเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญได้แก่ การทำให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมทั้งสามารถเรียนรู้ได้ดี และจะเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุข ห้องเรียนเป็นระบบระเบียบ ครูสามารถจัดการชั้นเรียนได้ดีขึ้น ทำให้การจัดการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล และที่สำคัญที่สุด การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นบุคคลที่รักของคนในสังคม และส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข
กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาโดยยึดหลัก “คุณธรรมนำความรู้” และได้กำหนดคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ สำหรับให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนนำไปปฏิบัติให้เกิด
ผลตามความมุ่งหวัง คุณธรรมพื้นฐานทั้ง 8 ประการ ได้แก่ ขยัน ประหยัด ความซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ
การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมในชั้นเรียนนั้น ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และต้องพยายามสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนเป็นคนดี รวมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการแข่งขันจนเกินไปหรือจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
สำหรับเทคนิคการสอนนั้น ครูสามารถใช้การบอกเล่า อธิบาย สมมติสถานการณ์และดำเนินการวิเคราะห์ ใช้เกม เพลง ละคร หรือจัดแสดงบทบาทสมมติ เพื่อสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม นักเรียนควรได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการสอน เมื่อเริ่มสอนครูควรให้นักเรียนนั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบและพร้อมที่จะเรียนรู้ เมื่อสอนก็สอนด้วยความรัก ความเมตตาซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกับนักเรียน นอกจากนี้ครูต้องสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและเป็นบรรยากาศที่นักเรียนได้ฝึกคิด
เมื่อครูถามนักเรียน หากนักเรียนตอบไม่ได้ ให้นักเรียนนั่งสงบนิ่งสัก 2-3 นาที แล้วค่อยหาคำตอบใหม่ ครูต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่สะอาด สงบและสวยงาม สร้างสถานการณ์จำลองให้นักเรียนได้ฝึกการเลือกและการตัดสินใจ และตระหนักถึงคุณค่าของการประพฤติ และให้กำลังใจแก่นักเรียนที่ประพฤติดี
บทที่ 19
เทคนิคการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม
ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ครูอาจมีการสอนที่แตกต่างและหลากหลาย ทั้งที่เป็นการสอนกลุ่มใหญ่หรือการสอนทั้งชั้น หรือแม้แต่การสอนเป็นรายบุคคล เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาและลักษณะของนักเรียน การสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ก็เป็นเทคนิคการสอนหนึ่งที่ใช้เพื่อจัดกลุ่มให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งนักเรียนจะได้รับทั้งความรู้และประการณ์ตรง และส่งผลให้นักเรียนมีทักษะทางด้านการคิด การวางแผน การตัดสินใจ และทักษะทางสังคมต่างๆ รวมทั้งทักษะในการแก้ปัญหาอีกด้วย
กระบวนการกลุ่มเป็นกระบวนการในการทำงานร่วมกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดย มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และมีการดำเนินงานร่วมกัน โดยผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มต่างก็ทำหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม และมีกระบวนการทำงานที่ดี เพื่อนำกลุ่มไปสู่วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานกลุ่มที่ดี จะช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะทางสังคม และขยายขอบเขตของการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น (ทิศนา แขมมณี, 2550: 143-144)
เทคนิคการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้ในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนไปตามลำดับต่อเนื่องกันให้ได้มาซึ่งการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของนักเรียน และ การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มนักเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระตามวัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่มที่สำคัญ ดังนี้ 1) ให้นักเรียนรู้จัก การทำงานร่วมกัน รู้จักแบ่งงานกันทำ และช่วยเหลือกัน 2) ให้เกิดปะทะสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างกลุ่ม 3) สร้างบรรยากาศในขั้นเรียนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น 4) ให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 5) ผสมผสานวิธีสอนหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน 6) ครูสามารถรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 7) เปิดโอกาสให้นักเรียนรู้จักและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน 8) ให้นักเรียนมีโอกาสอภิปรายและแสดงความคิดเห็น และ 9) สามารถใช้ประสบการณ์จากกลุ่มช่วยพัฒนาการเรียนรู้เป็นรายบุคคล
ประโยชน์ของการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่มมีหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ 1) นักเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนในกลุ่มและเพื่อนร่วมชั้น 2) นักเรียนได้ฝึกทักษะในการวางแผน ทักษะกระบวนการคิดและการทำงานร่วมกับผู้อื่น 3) ส่งเสริมให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ 4) ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของนักเรียนให้ดีขึ้น และ 5) ทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน
บทบาทของผู้นำกลุ่ม บทบาทของสมาชิกกลุ่ม และวิธีการทำงานของกลุ่ม นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกลุ่ม หากองค์ประกอบทั้ง 3 มีความเหมาะสม ก็จะช่วยให้กลุ่มเกิดกระบวนการที่ดีที่เอื้ออำนวยให้กลุ่มประสบความสำเร็จ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ องค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 3 นั้น แสดงบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างเหมาะสม
ในการแบ่งกลุ่มย่อยนั้น สามารถแบ่งกลุ่มได้หลายประเภทหรือหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น แบ่งกลุ่มเป็น กลุ่มปฏิบัติงาน กลุ่มช่วยกันเรียน กลุ่มวิเคราะห์ปัญหา กลุ่มระดมความคิด กลุ่มแก้ปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์ กลุ่มอภิปรายแบบเปิด กลุ่มแบบซินดิเกท กลุ่มพิจารณาประเด็นย่อย กลุ่มสัมมนา กลุ่มกำหนดบทบาทและ กลุ่มสนทนา เป็นต้น
หลักการใช้กระบวนการกลุ่มในชั้นเรียน ที่สำคัญ ได้แก่ การสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ เน้นให้นักเรียนค้นคว้าและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง เน้นการใช้กระบวนการกลุ่ม และให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อนำมาใช้ควบคู่ เชื่อมโยง ผสมผสานร่วมกับกระบวนการกลุ่ม
บทบาทของครูและนักเรียนในการสอนกลุ่มย่อยนั้น ครูเป็นผู้เตรียมข้อมูลและสภาพแวดล้อม รวมทั้งช่วยนักเรียนสรุปและประเมินผลการเรียนรู้ นอกจากนี้ครูต้องคอยให้คำปรึกษาหากเกิดข้อสงสัยหรือปัญหา ส่วนนักเรียนมีบทบาทในการเรียนรู้ด้วยตนเอง แสดงความคิดเห็น และปฏิบัติกิจกรรมตามที่กำหนด
เทคนิคการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ที่สำคัญ ได้แก่ การแบ่งกลุ่มของนักเรียนให้คำนึงถึงสภาพของห้องเรียนและอุปกรณ์ที่มี จัดกิจกรรมกลุ่มให้สอดคล้องกับขนาดของกลุ่ม ควรมีเอกสารประกอบการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักเรียนคนอื่นๆ หมุนเวียนกันไป
เทคนิคที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มมีหลากหลาย ครูควรนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้บรรยากาศ การเรียนรู้มีความน่าสนใจ และที่สำคัญ ครูควรคิดค้นวิธีการแบ่งกลุ่มด้วยตนเองบ้างเพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนได้
บทที่ 20
เทคนิคการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ
การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้ และเข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยเน้นกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วม และเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ การสอนโดยใช้เทคนิคการแสดงบทบาทสมมติเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ให้
นักเรียนได้แสดงออก ทั้งทางด้านความคิดและท่าทางการแสดง ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน
ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นการใช้บทบาทสมมติในระดับที่แตกต่างกัน หากครูเน้นการแสดงบทบาทสมมติที่ค่อนข้างมาก มีลำดับขั้นตอนในการสอนซึ่งเริ่มจากการที่ผู้สอน/ผู้เรียนนำเสนอสถานการณ์สมมติและบทบาทสมมติ ผู้สอน/ผู้เรียนเลือกผู้แสดงบทบาท ผู้สอนเตรียมผู้สังเกตการณ์ ผู้เรียนแสดงบทบาท และสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก ผู้สอนและผู้เรียน อภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้แสดง ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ และผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (ทิศนา แขมมณี, 2550: 358-359) ลักษณะนี้จะเป็นวิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ แต่หากครูใช้การแสดงบทบาทสมมติเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น ใช้เพื่อนำเข้าสู่บทเรียนหรือเร้าความสนใจ เป็นต้น และมีกิจกรรมการเรียนการสอนอีกหลายกิจกรรม ลักษณะนี้ก็จะเป็นเทคนิคการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการสอน
เทคนิคการสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ หมายถึง กลวิธีที่ครูให้นักเรียนทำท่าทางตามความรู้สึกของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิด ช่วยลดความตึงเครียดและนักเรียนเข้าใจเนื้อหาของบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น
การสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ มุ่งฝึกการทำงานร่วมกัน กล้าคิด กล้าแสดงออกในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อมากยิ่งขึ้น ลดความตึงเครียด เพราะเป็นการสอนที่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด
ประโยชน์ของเทคนิคการแสดงบทบาทสมมติ ได้แก่ 1) ช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมนั้นๆ และได้ทราบแนวทางในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด 2) ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น 3) ช่วยลดความตึงเครียดของนักเรียน 4) ช่วยให้ครูเรียนรู้ถึงความต้องการของนักเรียน 5) ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี 6) ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจค่านิยมของตน 7) ช่วยให้นักเรียนพัฒนาความสามัคคีในกลุ่มให้ดีขึ้น 8) ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในสังคม และ 9) ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การแสดงบทบาทสมมติมีเทคนิคที่ครูควรปฏิบัติ ดังนี้ 1) กระตุ้นความสนใจของนักเรียนโดยการเล่าสถานการณ์สมมติแล้วทิ้งท้ายด้วยปัญหา 2) ให้ดูตัวอย่างการแสดงจากวีดิทัศน์หรือภาพยนตร์ 3) เตรียมอุปกรณ์ประกอบการแสดงและฉากให้พร้อม 4) ควรมีผู้แสดง 2-4 คน 5) เลือกผู้แสดงให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการแสดง 6) ชี้แจงจุดประสงค์ในการแสดงบทบาทสมมติ 7) ให้นักเรียนแสดงอย่างอิสระ 8) ให้เวลาในการแสดงอย่างเพียงพอ 9) ไม่ขัดจังหวะการแสดงของนักเรียน ยกเว้นแต่นักเรียนจะแสดงออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป และ 10) ตัดบทเมื่อนักเรียนแสดงนานเกินไปหรือการแสดงนั้นให้ข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปอภิปรายหรือผู้แสดงเกิดอารมณ์สะเทือนใจมากเกินไป
บทที่ 21
เทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิต
ให้ท่านลองนึกดูว่า หากมีใครสักคนอธิบายวิธีการหุงข้าวให้ท่านฟัง ท่านคงเข้าใจได้ไม่ยากเพราะเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นสิ่งที่ท่านมีประสบการณ์ในการปฏิบัติมาแล้ว แต่หากเขาอธิบายวิธีการทำอาหารญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฝรั่ง หรืออาหารเม็กซิกันบางชนิดที่มีขั้นตอนซับซ้อนขึ้นและเป็นวิธีการที่ท่านไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ท่านจะเข้าใจได้ดีเพียงใด และหากเขามีภาพประกอบให้ท่านเห็นท่านจะเข้าใจวิธีการทำมากขึ้นขนาดไหน และหากเขานำวีดิทัศน์แสดง วิธีทำหรือนำเครื่องปรุงต่างๆ มาแสดงพร้อมทั้งแสดงการทำให้ดู คาดว่าท่านจะเข้าใจได้ดีขึ้นมาก นั้นแสดงให้เห็นว่าการสาธิตหรือถ่ายทอดความรู้หรือการสอนโดยใช้เทคนิคการสาธิตมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ถึงสิ่งที่เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการ
ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นการใช้การสาธิตในระดับที่แตกต่างกันหากครูเน้นการสาธิตที่ค่อนข้างมาก มีลำดับขั้นตอนในการสอนซึ่งเริ่มจากการที่ผู้สอนแสดง การสาธิต ผู้เรียนสังเกตการณ์สาธิต ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จาก การสาธิต และผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (ทิศนา แขมมณี, 2550: 330) ลักษณะนี้จะเป็นวิธีสอนโดยใช้การสาธิต แต่หากครูใช้การแสดงการสาธิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น ใช้เพื่อนำเข้าสู่บทเรียนหรือเพื่อเร้าความสนใจ เป็นต้น โดยมีกิจกรรมการเรียนการสอนอีกหลายกิจกรรมตามมาอีก ลักษณะนี้ก็จะเป็นเทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิตเพื่อเสริมประสิทธิผลของการสอน
เทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิต หมายถึง กลวิธีที่ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการแสดงให้นักเรียนเห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของเทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิต ที่สำคัญได้แก่ เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนของนักเรียน มุ่งช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นได้เห็นการปฏิบัติจริงด้วยตาตนเอง รวมทั้งช่วยในการอธิบายเนื้อหาที่ยาก ซึ่งต้องใช้เวลานาน ให้เข้าใจง่ายขึ้นและประหยัดเวลา และเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นผลทดลองที่ผู้เรียนไม่สามารถทดลองเองได้อันเนื่องจากเครื่องมือ อุปกรณ์ไม่พอที่จะให้ผู้เรียนทดลองทุกคนหรือเป็นการทดลองที่มีอันตราย
เมื่อครูใช้เทคนิคการสาธิตในชั้นเรียนจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อให้เกิดความปลอดภัยแก่นักเรียน ประหยัดเวลา นักเรียนเห็นกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเข้าใจได้ดีขึ้น
ในการดำเนินการสาธิตให้เกิดประสิทธิผลนั้นครูต้องมีเทคนิคในการสาธิต เทคนิค การสาธิตที่สำคัญได้แก่ 1) ครูต้องมีความพร้อมในการสาธิต ซึ่งรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย 2) ครูเกริ่นนำการสาธิต 3) บอกนักเรียนถึงจุดเน้นที่นักเรียนต้องให้ความสนในเป็นพิเศษ 4) ดำเนินการสาธิตให้นักเรียนทุกคนสามารถเห็นได้ 5) ดำเนินการสาธิตตามลำดับขั้นตอนที่ง่ายต่อการเข้าใจ 6) ครูใช้คำถามขณะทำการสาธิตหรือหลังที่สาธิตเสร็จแล้ว 7) แจกเอกสารประกอบหากสาธิตเรื่องที่เข้าใจได้ยาก 8) มีการสรุปการสาธิต เพื่อเพิ่มความเข้าใจของนักเรียน
บทที่ 22
เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
ในการเรียนรายวิชาต่างๆ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดก็ตาม การฝึกและการปฏิบัติหรือการฝึกปฏิบัติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนเพราะการฝึกและการปฏิบัติจะทำให้นักเรียนมีทักษะเพิ่มมากขึ้นในสิ่งที่ฝึกและปฏิบัติรวมทั้งจะมีความเข้าใจและมีเจตคติที่ดีต่อ การฝึกนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเรียนสามารถเห็นความก้าวหน้าของตนในสิ่งที่ได้ฝึกและปฏิบัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (2550: 3) ทรงพระราชทานพระ-บรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2514 มีเนื้อความเกี่ยวกับการฝึกและปฏิบัติ ดังนี้
“...การให้การศึกษาแก่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่เกิด ขึ้นต้นก็ต้องสอนให้รู้จักใช้อวัยวะและประสาทส่วนต่างๆต้องคอยควบคุมฝึกหัด จนสามารถใช้อวัยวะและประสาทส่วนนั้นๆ ทำกิจวัตรทั้งปวงของตนเองได้ เมื่อสามารถทำกิจวัตรของตัว ได้แล้ว ถัดมาก็ต้องสอนให้รู้จักทำการต่างๆ ให้รู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ตามที่ต้องการให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้ชีวิตมีความสะดวกมีความสบาย การให้การศึกษาขั้นนี้ ได้แก่การฝึกกายให้มีความคล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ และสามารถในการปฏิบัติ ประกอบกับการสอนวิชาความรู้ต่างๆ อันเป็นพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพเลี้ยงตัว การให้การศึกษาอีกขั้นหนึ่งคือการสอนและฝึกฝนให้เรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นไป พร้อมทั้งการฝึกฝนให้รู้จักใช้เหตุผลสติปัญญาและหาหลักการของชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามทั้งทางกายและทางความคิด...”
นอกจากนี้คำกล่าวของท่านขงจื้อนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนในสมัยโบราณมีเนื้อความเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือการได้ลงมือทำ ดังนี้
ฉันได้ยิน ฉันลืม
ฉันได้เห็น ฉันจำได้
ฉันได้ทำ ฉันเข้าใจ
ออร์นสทีนและลาสเลย์ (Ornstein & Lasley II, 2000: 190) กล่าวว่า การฝึกฝนและปฏิบัติเป็นวิธีการสอนที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างได้เป็นอย่างดีและมีประโยชน์สำหรับชั้นเรียนในปัจจุบัน
เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้ทำ แสดงหรือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนาญในสิ่งที่ได้ฝึกนั้น
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติมีหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ เพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรง ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น เกิดทักษะและเกิดการเรียนรู้ที่คงทนมากยิ่งขึ้น ลดความเบื่อหน่ายและสร้างความตื่นตัวให้กับนักเรียน ให้นักเรียนได้มีโอกาสได้ประเมินตนเองว่าทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้หรือไม่ ให้ครูสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากการสังเกตผลงานของนักเรียนที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ และเพื่อให้นักเรียนมีทักษะและเกิดความชำนาญในสิ่งที่ได้ฝึกปฏิบัติซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในสิ่งที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง เช่นในกรณี “เพื่อนสอนเพื่อน” เป็นต้น และก่อให้เกิดความสามัคคีมากยิ่งขึ้น
เมื่อครูให้นักเรียนได้ฝึกและปฏิบัติกิจกรรมในชั้นเรียนจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการที่สำคัญได้แก่ นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรง ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น เกิดทักษะและเกิดการเรียนรู้ที่คงทนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น ครูสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากการสังเกตผลงานของนักเรียนที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ และทำให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ฝึกและปฏิบัตินั้น ครูต้องใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อให้การฝึกและปฏิบัติเกิดผลมากที่สุด เทคนิคที่สำคัญ ได้แก่ ครูต้องคอยสังเกตการฝึกและปฏิบัติของนักเรียน และพร้อมที่จะช่วยเหลือทันทีที่นักเรียนมีปัญหาหรือเกิดข้อสงสัย รวมทั้งให้คำแนะนำ คำอธิบายและผลป้อนกลับเกี่ยวกับผลการฝึกและปฏิบัติของนักเรียน นอกจากนี้กิจกรรมที่ครูฝึกต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและหลากหลายและครูต้องใช้คำถามกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ
บทที่ 23
เทคนิคการให้การบ้าน
การบ้าน (homework) เป็นสิ่งที่ควบคู่กับครู นักเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอน คงไม่มีครูท่านใดที่ไม่เคยให้การบ้านแก่นักเรียนเลย ในทำนองเดียวกันคงไม่มีนักเรียนคนไหนที่ ไม่เคยทำการบ้านเลย การให้การบ้านแก่นักเรียนนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตาม การให้การบ้านนั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น หากครูมีเทคนิคในการให้การบ้านที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน ดังรายละเอียดจะได้กล่าวในบทนี้
เทคนิคการให้การบ้าน หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้ในการดำเนินในกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมอบหมายงานที่สัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน แต่ครูกำหนดให้นักเรียน ไปทำที่บ้านหรือนอกเวลากิจกรรมการเรียนการสอนปกติ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในสิ่งที่เรียนมากยิ่งขึ้น
การที่ครูดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมอบหมายการบ้านให้นักเรียนไปทำนั้น มีวัตถุประสงค์หลายประการ ที่สำคัญได้แก่ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาและทักษะตามจุดประสงค์ของบทเรียน และเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาการคิดรวมทั้งเพื่อให้ครูได้ทราบถึงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียน
การให้การบ้านแก่นักเรียนก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญได้แก่ นักเรียนมีความรู้และความชำนาญตามจุดประสงค์ของบทเรียนมากยิ่งขึ้น นักเรียนได้พัฒนาการคิดและทำให้ครูทราบถึงความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการบ้านหรืองานที่ครูมอบหมายให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
ในการให้การบ้านแก่นักเรียนนั้นครูต้องให้การบ้านที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มีปริมาณและความยากง่ายพอเหมาะ และครูต้องอธิบายแนวทางการทำการบ้านให้นักเรียนเข้าใจพร้อมตอบข้อซักถามหากนักเรียนสงสัย การบ้านที่ครูให้ควรมีความหลากหลายและให้โอกาสแก่นักเรียนในการเลือกทำ รวมทั้งให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำแก่นักเรียนในการทำงานที่มอบหมายและที่สำคัญต้องให้ผลป้อนกลับว่านักเรียนทำได้ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ ครูต้องคำนึงความสามารถของนักเรียนตลอดจนสภาพแวดล้อมทางบ้านของนักเรียนอีกด้วย
ครูต้องตรวจการบ้านที่มอบหมายให้นักเรียนทำ ให้การเสริมแรง และอธิบายให้นักเรียนเข้าใจในข้อที่นักเรียนทำผิดจนกระทั่งนักเรียนสามารถทำได้ด้วยตนเอง และครูควรนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจการบ้านมาพิจารณาในการปรับปรุงเทคนิคและวิธีการสอน และรวมถึงสื่อที่ครูใช้อีกด้วย
บทที่ 24
การสอนแบบจุลภาค
จากเทคนิคการสอนต่างๆ ในบทที่ผ่านมาซึ่งได้นำเสนอไว้จำนวน 22 เทคนิค ดังนี้
1. เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
2. เทคนิคการอธิบายและยกตัวอย่าง
3. เทคนิคการใช้กระดานดำ
4. เทคนิคการใช้สื่อการสอน
5. เทคนิคการใช้คำถาม
6. เทคนิคการใช้วาจากิริยาท่าทางและสื่อความหมาย
7. เทคนิคการเล่าเรื่อง
8. เทคนิคการใช้เพลง
9. เทคนิคการใช้เกม
10.เทคนิคการสร้างอารมณ์ขัน
11.เทคนิคการใช้ผังกราฟิก
12.เทคนิคการพัฒนาการคิด
13.เทคนิคการเร้าความสนใจ
14.เทคนิคการเสริมกำลังใจ
15.เทคนิคการจัดการชั้นเรียน
16.เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมในชั้นเรียน
17.เทคนิคการใช้กระบวนการกลุ่ม
18.เทคนิคการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
19.เทคนิคการสอนโดยใช้การสาธิต
20.เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
21.เทคนิคการสรุป
22.เทคนิคการให้การบ้าน
เทคนิคต่างๆ เหล่านี้ครูหรือนักศึกษาครูต้องพยายามทดลองปฏิบัติดูว่าเทคนิคใดที่เราทำได้ดีและเทคนิคใดที่เรายังทำได้ไม่ดี สำหรับเทคนิคที่ยังทำได้ไม่ดีนั้นก็จะได้ฝึกซ้ำให้เกิดความชำนาญเพื่อนำไปใช้ในการสอนจริงให้เกิดประสิทธิผล การฝึกที่กล่าวมานี้จำเป็นที่ต้องฝึกในสถานการณ์พิเศษเพราะข้อจำกัดของระยะเวลาที่ผู้ฝึกหรือนักศึกษามีเพื่อการฝึก สถานที่ อุปกรณ์และผู้ที่จะแสดงเป็นนักเรียนให้คล้ายเวลาสอนจริง รวมทั้งอาจารย์ผู้สอนที่จะให้คำแนะนำติชมจึงจำเป็นต้องฝึกแบบย่อส่วนทั้งในด้านเวลาที่ใช้สอนและจำนวนของนักเรียนที่เรียกว่า “การสอนจุลภาค”
ทิศนา แขมมณี (2548: 412-413) อธิบายว่า การสอนแบบจุลภาค (Micro Teaching) เป็นการฝึกทักษะการสอนก่อนออกไปสู่สถานการณ์จริงคือการสอนในโรงเรียน วัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาครูได้ฝึกปฏิบัติการสอนในจุดที่ตนยังทำไม่ได้ หรือยังทำไม่ได้ดี เป็นการฝึกซ้อมให้ตนเองมีความพร้อมในการปฏิบัติงานจริงในขั้นที่ 2 คือ ขั้นออกฝึกสอนในโรงเรียน
การสอนแบบจุลภาค หมายถึง การสอนที่มีลักษณะเหมือนการสอนจริง แต่ย่อส่วนทั้งบทเรียน เวลา และขนาดของชั้น กล่าวคือ เป็นการสอนที่มุ่งทักษะการสอนและสอนกับนักเรียนจำนวนน้อย โดยใช้บทเรียนเพียงบางส่วนมาสอน ในเวลาประมาณ 5-20 นาที ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝึกทักษะการสอนได้ทราบผลป้อนกลับหลังจากการสอน เพื่อจะได้แก้ไขจุดอ่อนของตน และปรับปรุงการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสำหรับใช้ในการฝึกทักษะเพื่อเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
การสอนแบบจุลภาคมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาหรือผู้ฝึกได้ฝึกเทคนิคการสอนต่างๆ เพื่อเพิ่มความชำนาญในการสอนของตนเอง และในการสอนแบบจุลภาคต้องมีการเสริมแรงผู้ฝึกหรือนักศึกษา และต้องมีการรู้ผลป้อนกลับ รวมทั้งทำการฝึกซ้ำหลายๆ ครั้งและต้องมีการโยงความรู้ไปสู่สถานการณ์จริงในการสอน
ขั้นตอนการสอนจุลภาคมีหลายขั้นตอน อย่างน้อยควรมี 4 ขั้นตอนคือ เตรียมการ ฝึก อภิปรายและประเมินผล และสุดท้ายหากพบข้อบกพร่องก็ทำการฝึกใหม่ ถ้าให้เห็นขั้นตอนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ขยายได้เป็น 9 ขั้นตอน ได้แก่ เลือกทักษะที่จะฝึก จัดทำเกณฑ์ประเมินทักษะ ดูแบบอย่าง จัดทำบทเรียนฝึกทักษะ จัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อบันทึกการสอน ติดต่อนักเรียน ลงมือสอน ประเมินการสอน และปรับบทเรียนและสอนใหม่
ผู้ที่ควรมีบทบาทในการวิจารณ์และประเมินผลการฝึกทักษะได้แก่ อาจารย์นิเทศ นักศึกษาผู้ฝึกทักษะและเพื่อนนักศึกษา สำหรับการวิจารณ์สามารถทำได้หลังจากสอนจบ ซึ่งดูวีดิทัศน์และร่วมกันวิจารณ์เป็นชั้น หรือทำแบบประเมินที่มีเกณฑ์กำหนดไว้ ที่สำคัญก็คือไม่ควรวิจารณ์ขณะกำลังสอนจะทำให้ผู้ฝึกชะงักงัน การวิจารณ์ควรให้คำชมเชยและข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหา ส่วนแบบประเมินต้องประกอบด้วยพฤติกรรมที่สังเกตได้มีความหมายเด่นชัด มีจำนวนข้อไม่มากเกินไปเพราะสอนในช่วงสั้นๆ
เอกสารอ้างอิง
เอกสารอ้างอิง
หนังสือและหนังสือแปล
กิดานันท์ มลิทอง. 2531. เทคโนโลยีการศึกษาร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
____. 2544. สื่อการสอนและฝึกอบรม: จากสื่อพื้นฐานถึงสื่อดิจิทัล. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
คณิต เขียววิชัย. 2534. หลักการนันทนาการ. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.
จำเริญ ชูช่วยสุวรรณ. 2544. เอกสารประกอบการสอนวิชาหลักและวิธีการสอน. นครศรีธรรมราช: ภาควิชาเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล.
จินตนา สุขมาก. ม.ป.ป. เอกสารประกอบการเรียนการสอน วิชาการศึกษา 2143205 หลักการสอน. กรุงเทพฯ: เพชรเกษมการพิมพ์.
เฉลิม มลิลา. 2526. ทักษะการสอนแบบจุลภาค. กรุงเทพฯ: แสงจันทร์การพิมพ์.
ชมนาท รัตนมณี. 2541. หลักการสอน (1022301). กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.
ชัยวัฒน์ เหล่าสืบสกุลไทย. 2549. เพลงเพื่อการสอนและการจัดกิจกรรมนันทนาการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชาญชัย ยมดิษฐ์. 2548. เทคนิคและวิธีการสอนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หลักพิมพ์.
ดนู จีระเดชากุล. 2541. อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ เหล่าสืบสกุลไทย. 2549. เพลงเพื่อการสอนและการจัดกิจกรรมนันทนาการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ตวงแสง ณ นคร. 2542. การใช้สื่อการสอน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ทิศนา แขมมณี. 2548. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
____. 2550. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประดินันท์ อุปรนัย. 2540. จิตวิทยาเกี่ยวกับผู้สอนในระบบการเรียนการสอน ในเอกสารการสอนชุดวิทยาการสอน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
พิมพันธ์ เดชะคุปต์. 2544. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ: แนวคิดวิธีและ เทคนิคการสอน 2. กรุงเทพฯ: บริษัทเดอะมาสเตอร์กรุ๊ปแมเนจเมนท์ จำกัด.
พึงใจ สินธวานนท์ และคณะ. 2520. โครงการสอนแบบจุลภาคตอนที่1 การจัดการสอน แบบจุลภาค. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
พูลสุข กิจรัตนี. 2531. การสอน: หลักการและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: ภาควิชาหลักสูตรและ การสอน คณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนคร.
ไพโรจน์ ตีรณธนากุล. ม.ป.ป. การสอนวิชาช่างอุตสาหกรรม วิธีสอนวิชาทฤษฎี. กรุงเทพฯ: ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. 2539. พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 2508-2537. กรุงเทพฯ: สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์.
ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. 2551. เทคนิคการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2542. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2546. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และคณะ. 2549. หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. 2550. การวิเคราะห์สื่อการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศิริพร หงส์พันธุ์. 2540. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน. สุรินทร์: ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสุรินทร์.
ศึกษานิเทศก์, หน่วย. กรมการฝึกหัดครู. 2520. อ้างถึงใน อาภรณ์ ใจเที่ยง. 2546. หลักการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
สนอง อินละคร. 2544. เทคนิควิธีการและนวัตกรรมที่ใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. พิมพ์ครั้งที่ 4. อุบลราชธานี: อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์.
สมคิด สร้อยน้ำ. 2542. หลักการสอน. อุดรธานี : สำนักส่งเสริมวิชาการ สถาบันราชภัฏอุดรธานี.
สามารถ คงสะอาด. 2535. หลักการสอน. สงขลา: วิทยาลัยครูสงขลา.
สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์. 2550. การสอนระดับประถมศึกษา 2. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุนันทา สุนทรประเสริฐ. ม.ป.ป. ภาษาพาสุขสนุกกับเพลง. ม.ป.ท.
สุพิน บุญชูวงศ์. 2544. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต.
สุวรรณี ศรีคุณ. 2527. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
คณะครุศาสตร์ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช.
คณะครุศาสตร์ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช.
เสริมศรี ไชยศร. 2539. พื้นฐานการสอน. เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์.
เสริมศรี ลักษณศิริ. 2540. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏพระนคร.
ไสว ฟักขาว. 2544. หลักการสอนสำหรับการเป็นครูมืออาชีพ. กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฏ จันทรเกษม.
อรนุช ลิมตศิริ. 2551. นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อรภัทร สิทธิรักษ์. 2540. หลักการสอน. นครศรีธรรมราช: คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. 2546. หลักการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
อินทิรา บุณยาทร. 2542. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
Abruscato, Joseph. 2000. Teaching Children Science A Discovery Approach. 5th ed.
Colin, Marsh. 2004. Becoming a teacher. 3rd. New South Wales : Pearson Education Australia .
Jensen, Eric. 2009. Super Teaching. 5th ed. Thousand Oaks , California : Corwin Press.
Moore, Kenneth D. 2009. Effective Instructional Strategies: form Theory to Practice. 2nd ed. Thousand Oaks , California : Corwin Press.
Ornstein Allan C. and J.Lasley, II Thomas. 2000. Strategies for Effective Teaching. 3rd. Boston : Allyn and Bacon.
ข้อมูลจากแหล่งสารนิเทศสากล (Internet)
เกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัย. 2548. “ทำอย่างไรจึงจะประหยัดไฟฟ้าได้ ตอน 1” . [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก http://www.ku.ac.th/e-magazine/oct48/know/fire.htm สืบค้น 10
กันยายน 2552
เขตพื้นที่การศึกษา ศรีษะเกษ 1. 2552. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://ssk298.sisaketedu1.go.th/news2_detail.php?id=4562 สืบค้น 10 กันยายน
2552
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน. 2552. “บทที่ 8 เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ใน ง 41201 คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน”.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้ จาก http://school.obec.go.th/terayan/c41201/les8.htm สืบค้น 10 กันยายน
2552
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552. “Distance Learning”.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.academic.chula.ac.th/elearning/distancel/index.html
สืบค้น 10 กันยายน 2552.
http://www.academic.chula.ac.th/elearning/distancel/index.html
สืบค้น 10 กันยายน 2552.
เอกสารอ้างอิง (เพิ่มเติม)
หนังสือและหนังสือแปล
กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์. 2549. เทคโนโลยีการศึกษาวิชาชีพ. กรุงเทพฯ: สินทวีการพิมพ์
กุญชรี ค้าขาย. 2551. การจัดการชั้นเรียนแบบสร้างสรรค์. นนทบุรี: ห้างหุ้นส่วนจำกัดข้าหลวงพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2548. ลายแทงนักคิด. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย.
คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. .2529. คู่มือการจัดกิจกรรมสร้างเสริม
คุณธรรมของครูประถมศึกษา. กรุงเทพฯ: โครงการอบรมครูวิชาการ ประจำกลุ่ม
โรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
คูเปอร์ แฮร์ริส. 2545. วิธี…รบกับการบ้านของลูก (ศิษย์). แปลจาก The battle over homework: Common ground for administrators, teachers, and parents. โดยณัฐพงศ์ เกษมาริษ. กรุงเทพฯ: เบรนเน็ท (ในเครือเอ็กซเปอร์เน็ทบุ๊คส์).
จิตรา วสุวานิช. 2531. จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: แสงจันทร์การพิมพ์.
จิรกรณ์ ศิริประเสริฐ. 2543. ทักษะและเทคนิคการสอนพลศึกษาในระดับประถมศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จุฑามาศ สุวรรณโครธ และ สุกัญญา ศรีสืบสาย. 2532. อ่านด้วยเกม. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฉลวย พร้อมมูล. 2542. พฤติกรรมการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา. สงขลา: ชลบุตรกราฟฟิค.
เฉลิม มลิลา. 2526. ทักษะการสอนแบบจุลภาค. กรุงเทพฯ: แสงจันทร์การพิมพ์.
ชัยพร รูปน้อย. 2540. การจัดนันทนาการสำหรับกิจกรรมยุวกาชาด. ใน เอกสารประกอบ
การอบรมศูนย์พลศึกษาและกีฬาเพชรบุรี: ศูนย์พลศึกษาและกีฬาจังหวัด
เพชรบุรี. (อัดสำเนา)
เดิมแท้ ชาวหินฟ้า.พระ, รัศมี กฤษณมิษ และสุวิดา แสงสีหนาท. 2550. การศึกษาแนวทางการปลูกจิตสำนึกคุณธรรมผ่านระบบการศึกษา: กรณีศึกษามูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
ทองคูณ หงส์พันธุ์. 2542. สอนดีต้องมีหลัก: บัญญัติ 20 ประการของงานสอน. กรุงเทพฯ: แสงส่วางการพิมพ์.
ทิศนา แขมณี. 2544. ระบบการออกแบบการเรียนการสอน. เอกสารประกอบการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (อัดสำเนา)
____. 2548. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
____. 2550. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทิศนา แขมมณี และคณะ. (2544). การคิดและการสอนคิด. ใน ประมวลบทความนวัตกรรม
เพื่อการเรียนรู้สำหรับครูยุคปฏิรูปการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: คณะครุ-ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประกอบ ประพันธ์วิทยา. 2531. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครูพระนคร.
ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ. 2551. การพัฒนาการคิด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด 9119 เทคนิคพริ้นติ้ง.
ประสาท อิศรปรีดา. 2549. สารัตถะจิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 6. ขอนแก่น: โรงพิมพ์ คลังนานาวิทยา.
ปรีชา คัมภีรปกรณ์. 2540. หน่วยที่ 8 หลักการสอน ในเอกสารการสอนชุดวิชาวิทยาการ สอน หน่วยที่ 8-15. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ผกา สัตยธรรม. 2544. คุณธรรมของครู. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พรรณี ช.เจนจิต. 2545. จิตวิทยาการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต). 2539. วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
ปัญญา.
พอล เบอร์เดน. 2545. ยอดกลยุทธ์การจัดการชั้นเรียน. แปลจาก Powerful Classroom Management Strategies. โดย อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง. กรุงเทพฯ: เบรนเน็ท.
พันธ์ ทองชุมนุม. 2545. การสอนวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา. ปัตตานี: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
พินิจ รัตนกุล. 2534. วิธีการปลูกฝังจริยธรรม: ปัญหาการปลูกฝังจริยธรรมในสังคมไทย. ใน
โครงการอบรมสัมมนากลยุทธ์การปลูกฝังจริยธรรมในเยาวชน.
มหาวิทยาลัยมหิดล 5-6 สิงหาคม 2534.
พีระพงศ์ บุญศิริ และ มาลี สุรพงศ์. 2536. เกม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
พึงใจ สินธวานนท์ และคณะ. 252ุ0. โครงการสอนแบบจุลภาคตอนที่ 1 การจัดการสอน
แบบจุลภาค. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูร. 2547. นันทนาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วังอักษร.
ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. 2550. คำพ่อสอน: ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ.
ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. 2551. เทคนิคการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ระวีวรรณ วุฒิประสิทธิ์. 2530. บทเรียนวิชาชุดครูทางวิทยุไปรษณีย์ชุดวิชาครู ระดับ พ.ม. วิชาหลักการสอน. นครสวรรค์: ศูนย์การศึกษาสำหรับครูทางวิทยุไปรษณีย์.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2542. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2546. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
ฤกษ์ชัย คุณูปการ. 2539. หลักการและทฤษฎีการปลูกฝังจริยธรรม. พิษณุโลก: ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม.
ลักขณา สริวัฒน์. 2549. การคิด. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.
ลำดวน เกษตรสุนทร. 2535. การสอนจริยศึกษาในระดับประถมศึกษา. สงขลา: ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัย-ครูสงขลา.
ลำพอง บุญช่วย. 2530. การสอนเชิงระบบ. ปทุมธานี: วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์
เลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงาน. 2550. คุณธรรมนำความรู้: รูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการคุณค่าความเป็นมนุษย์. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.ที.ซี. คอมมิว นิเคชั่น.
วนิช สุธารัตน์. 2547. ความคิดและความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.
วนิดา ขาวมงคล เอกแสงศรี. 2546. หลักการสอนการพัฒนาทักษะชีวิต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วรรณทิพา รอดแรงค้า และ พิมพันธ์ เดชะคุปต์. 2542. การพัฒนาการคิดของครูด้วยกิจกรรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัทเดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์ จำกัด
วีระ ไทยพานิช. 2551. 57 วิธีสอน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และคณะ. 2549. หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศิริกาญจน์ โกสุมภ์ และดารณี คำวัจนัง. 2546. สอนเด็กให้คิดเป็น. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปกรณ์ศิลป์พริ้นติ้ง.
ศิริพร หงส์พันธุ์. 2540. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน. สุรินทร์: ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสุรินทร์.
สมคิด สร้อยน้ำ. 2542. หลักการสอน. อุดรธานี : สำนักส่งเสริมวิชาการ สถาบันราชภัฏอุดรธานี.
สมพร สุทัศนีย์, ม.ร.ว. 2541. จิตวิทยาการปกครองชั้นเรียน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สามารถ คงสะอาด. 2535. หลักการสอน. สงขลา: วิทยาลัยครูสงขลา.
สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์. 2550. การสอนระดับประถมศึกษา 2. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุกัญญา ธารีวรรณ และคณะ. 2520. ศึกษา 131 หลักการสอนและการเตรียมประสบการณ์ภาคปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: เฉลิมชัยการพิมพ์.
สุคนธ์ สินธพานนท์ และคณะ. 2551. พัฒนาทักษะการคิด...พิชิตการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.
สุคนธ์ สินธพานนท์. 2551. นวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเยาวชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด 9119 เทคนิคพริ้นติ้ง.
สุปราณี จิราณรงค์. 2551. ครูประจำชั้นมืออาชีพ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุพิน บุญชูวงศ์. 2544. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต.
สุภาพ ฉัตราภรณ์. 2548. การสอนคหกรรมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุมน อมรวิวัฒน์. 2530. การสร้างเสริมศีลธรรมในสถานศึกษาจริยธรรมกับการศึกษา. ใน
โครงการตำราและเอกสารทางวิชาการ. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
สุรางค์ โค้วตระกูล. 2548. จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุวิทย์ มูลคำ และ อรทัย มูลคำ. 2547. 19 วิธีจัดการเรียนรู้ : เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.
เสริมศรี ไชยศร. 2539. พื้นฐานการสอน. เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์.
เสริมศรี ลักษณศิริ. 2540. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏพระนคร.
ไสว ฟักขาว. 2544. หลักการสอนสำหรับการเป็นครูมืออาชีพ. กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฏจันทรเกษม.
หทัย ตันหยง. 2535. การปรุงรสการสอนด้วยอารมณ์ขัน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. 2546. หลักการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
อารี พันธ์มณี. 2537. ความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 1412.
อินทิรา บุณยาทร. 2542. หลักการสอน. กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
Abruscato, Joseph. 2000. Teaching Children Science A Discovery Approach. 5th ed
Cornett, Claudia D. (1986). “Learning Through Laughter” Humour in the
Classroom, Phi Delth Kappa Education Foundation, Bloomington .
Glasser, R. 1990. The Recmergence of Leaning Theory with in Instructional Research. American Psychologist, 45, 29-39.
Kellough, Richard D. and Kellough, Noreen G. 2007. Secondary School Teaching:
Guide to Methods and Resources. 3rd . NJ: Pearson Merrill Prentice Hell.
Kline. 1989. quoted in Susan Peterson Miller. 2009. Validated Practices for Teaching Students with Diverse Needs and Abilities. 2nd . Boston , MA : Pearson Education, Inc.,
Miller, Susan P. 2009. Validated Practices for Teaching Students with Diverse Needs and Abilities. 2nd . Upper Saddle River , NJ : Pearson Education, Inc.,
Moore, Kenneth D. 2009. Effective Instructional Strategies: form Theory to Practice. 2nd ed. Thousand Oaks , California : Corwin Press.
Novak, J.D. & Gowin, D.B. 1984. Learning how to learn. London : Cambridge
University Press.
Ornstein Allan C. and J.Lasley, II Thomas. 2000. Strategies forEffective Teaching. 3rd. Boston : Allyn and Bacon.
ข้อมูลจากแหล่งสารนิเทศสากล (Internet)
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. 2552. วัฏจักรของน้ำ. ค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2552
สุราษฎร์พิทยา, โรงเรียน. 2550. คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ. ค้นเมื่อ 10 กันยายน 2552. จาก http://www.srp.ac.th/2550/news.php